“สุวัจน์” ชี้ทางออกเศรษฐกิจไทย ใช้จุดแข็ง เกษตร – อาหาร,ท่องเที่ยว – SOFT POWER และ LOCATION สร้างแพลตฟอร์มใหม่ทางเศรษฐกิจ  การเมืองต้องมีเสถียรภาพและมืออาชีพ
 
วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565  นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนาและอดีตรองนายกรัฐมนตรี  ได้บรรยายพิเศษในโอกาสปฐมนิเทศนักศึกษา วธอ.รุ่นที่ 7 ของสถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรมเมื่อวันเสาร์ ที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ ได้กล่าวถึง 3 เรื่อง สำคัญที่นักศึกษาควรต้องติดตาม คือ

1. สถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  

2. สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วงที่เกิดผลกระทบจาก COVID  

3. แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID และสถานการณ์การสู้รบของยูเครนและรัสเซีย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน จากผลกระทบของ COVID และสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง 6 เรื่อง คือ  1. ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งสูงมากประมาณ 8 – 10 % สูงสุดในรอบ 40 ปี ของสหรัฐอเมริกาและสูงที่สุดนับแต่มีเงินยูโรเกิดขึ้นนับจากปี ค.ศ.1999  อันเนื่องจากการใช้จ่ายเงินจากการต่อสู้กับปัญหา COVID รวมทั้งราคาพลังงานที่แพงขึ้น  และการขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่สูงขึ้น

2.การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้ดอกเบี้ยทั่วโลกสูงขึ้นจึงจะมีผลต่อตลาดเงินและการลงทุน 3. เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอาจโตเพียง 2.5% จากปัญหาเงินเฟ้อ น้ำมันและอาหารแพง และกำลังซื้อที่ถดถอยทั่วโลก และห่วงโซ่การผลิตที่หยุดการทำงาน  

4.โลกกำลังเกิดวิกฤติด้านอาหารขาดแคลนและราคาแพงจากสงคราม  โรคระบาด  ปัญหาโลกร้อนและประชากรที่เพิ่มขึ้น

5. ปัญหาโลกร้อนที่มีผลกระทบกับภัยธรรมชาติและรูปแบบอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องปรับตัวและ  

6. เกิด NOW WORD ORDER การจัดระบบโลกใหม่ จากปัญหาสงครามและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการตัดขาดจากกัน (Decoupling) มีการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน คือ กลุ่มสหรัฐอเมริกา และ NATO และสหภาพยุโรป และกลุ่มของรัสเซียและจีน  ที่จะมีผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจโลก

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทย ขณะนี้จากผลกระทบของ COVID และสงคราม  ทำให้เราต้องกู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อต่อสู้กับปัญหา COVID  ทำให้ภาระด้านหนี้สาธารณะสูงกว่า 60%  ของ GDP และหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของ GDP ซึ่งอาจจะกระทบต่อเครดิต    ด้านเสถียรภาพด้านการเงินและการคลัง  การขาดดุลงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีประมาณ 700,000 ล้าน และงบการลงทุนในงบประมาณแผ่นดินที่เหลือในสัดส่วนน้อยลงเพียงประมาณ 20%  เศรษฐกิจปีนี้ GDP อาจโตไม่ถึง 3%  นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเป็นปกติ  แต่ก็เริ่มจะกลับมา ปีนี้อาจได้ไม่เกิน 10 ล้านคน จาก 40 ล้านคนที่เคยมา ปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนกันมากขณะนี้ คือ น้ำมันแพง ราคาไฟฟ้า และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ขึ้นราคา ท่ามกลางภาวะรายรับรายได้ของประชาชนที่กำลังลำบาก  เงินเฟ้อของประเทศปีนี้อาจถึง 5%

จากสถานการณ์ด้านต่างๆของโลกรอบตัวเราในปัจจุบันและสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ เราต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาและสร้าง Platform ใหม่ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ  เพื่อความยั่งยืนและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดย FOCUS ต่อแนวทางต่างๆประมาณ 7 เรื่อง คือ
1.หลังจากปัญหา COVID เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีต้องเตรียมโครงการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อการฟื้นตัว ต้องเตรียมงบประมาณให้เพียงพอถ้าจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม  ก็ต้องระมัดระวังเรื่องเครดิตและเสถียรภาพ  ต้องกระตุ้นด้วยการสร้างงานอย่างจริงจัง ไม่เน้นประชานิยม  เหมือนให้เบ็ดไปตกปลา  ไม่ใช่ให้ปลาอย่างเดียว

2.ปรับโครงสร้างการบริหารและการผลิตของภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน  ให้เกิดความทันสมัย  การผสมผสานระหว่าง เทคโนโลยีดิจิตอล  เทคโนโลยีชีวภาพ  และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  ได้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ในโลกยุคปัจจุบันมากมาย อาทิเช่น AI ,ROBOTICS ,BLOCKCHAIN ,เงินดิจิตอล ,พลังงานทดแทน ,รถยนต์ไฟฟ้า ,เศรษฐกิจดิจิตอล ,เศรษฐกิจ BCG ต่างๆ ซึ่งเราต้องปรับตัวให้ทันด้วยการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างจริงจัง

3.ต้องเตรียมตัวต่อสู้ปัญหาเรื่องโลกร้อนเพราะจะกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า  ถ้าระบบการผลิตไปมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็จะเจอกับกำแพงภาษีต่างๆ ก็จะกระทบการส่งออก  การปรับกระบวนการผลิตของ SME  และผู้ประกอบการที่เป็นห่วงโซ่การผลิตให้ทันกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มากับภาวะโลกร้อน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งจะมีผลต่อ SME ที่เคยผลิตชิ้นส่วนต่างๆให้กับรถยนต์ที่วิ่งด้วยน้ำมัน  ว่าจะปรับตัวกันอย่างไรให้อยู่ได้และไทยจะยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกต่อไป

4.ต้องปรับโครงสร้างราคาพลังงานไม่ให้กระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะราคาน้ำมันและราคาไฟฟ้า  ราคาน้ำมันมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน  คือ  ราคาน้ำมันดิบ  ค่าการกลั่น  และค่าการตลาด ต้องศึกษารายละเอียดของโครงสร้างราคา คือ ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน และค่าการตลาดของปั๊มน้ำมันต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริโภค  ในเรื่องราคาไฟฟ้า วันนี้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนต่างๆ ราคาถูกลงมาก เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลงทุน  4 – 5 ปี ก็คืนทุนแล้ว  ควรนำพลังงานทดแทนต่างๆ มาเป็นพลังงานหลักของประเทศ  เพื่อลดสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล จะสามารถลดราคาค่าไฟให้กับประชาชนได้เป็นอย่างมาก  และเมื่อค่าไฟและน้ำมัน ไม่แพงก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการลงทุนให้กับประเทศด้วย

5.ปรับโครงสร้างผู้สูงอายุ  โดยขณะนี้มีผู้สูงอายุวัย 60 ปี ประมาณ 12 ล้านคน ผู้อยู่ในวัยทำงาน (15 – 59 ปี) มีประมาณ 43 ล้านคน สัดส่วนประชากรในวัยทำงานต่อผู้สูงอายุประมาณ  3.6 : 1  แต่อีก 20 ปี จะประมาณ  1.8 : 1  จะมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตของประเทศ  และภาระด้านสวัสดิการต่างๆ  ผู้สูงอายุคือ  พลังที่สำคัญ เป็นผู้มากประสบการณ์  ควรต่ออายุการทำงานให้สูงขึ้นเป็นจากเกษียณ 60 ปี เป็น 70 ปี ทั้งภาครัฐและเอกชน

6.ใช้กลไกกระจายอำนาจมาเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารประเทศและลดความเหลื่อมล้ำ  กรณี COVID ก็เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ  ที่มีความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่นต่างๆที่เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาการช่วยระดมการจัดหาวัคซีน หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และร่วมมือกันรักษาระยะห่าง ความร่วมมือของท้องถิ่นทำให้เราฝ่าวิกฤติมาได้

7.สร้างแพลตฟอร์มใหม่ด้านเศรษฐกิจของไทยซึ่งมีจุดแข็งที่ใครมาแข่งกับเราไม่ได้คือ  ภาคเกษตร – อาหาร,การท่องเที่ยว – Soft Power และภูมิศาสตร์ของประเทศ  สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลกจากพื้นฐานสินค้าเกษตรที่เรามีอยู่  เช่น  ข้าว  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  น้ำมันปาล์ม  อ้อย  และยางพารา  และใช้ระบบอุตสาหกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร  เพิ่มมูลค่าด้านการส่งออก  การสร้างงาน  การสร้างห่วงโซ่การผลิต  การสร้าง SME ต่างๆ ต้องมีแผนการทำงานด้านที่ชัดเจนต้องต่อยอดการท่องเที่ยวของไทย  ขยายเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยวและขยายค่าใช้จ่ายต่อวัน จะเพิ่มรายได้อีกมหาศาล  เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว  สร้างสินค้าด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น  ให้ประเทศไทยเป็นเมือง Wellness ของโลก  เมืองอาหารอร่อยของโลก  เป็น High End Destination เมืองท่องเที่ยววิถีชีวิตแบบชาวพุทธและสร้างตลาดท่องเที่ยวแบบ  Digital Nomad  จะทำให้เราขยายฐานนักท่องเที่ยวได้อีกเยอะ  ส่งเสริมต่อยอดเรื่องการใช้ Soft Power ของไทยที่มีวัฒนธรรม   ด้านอาหาร  การแต่งกาย  ศิลปะ  ดนตรี  กีฬา  มาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน มีการจัดตั้งกองทุน  Soft Power เพื่อมาพัฒนาและสร้าง Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลกให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ  ต้องวางแผนการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ได้เปรียบ ที่เป็นศูนย์กลางของ ASEAN ให้สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่รายล้อมไทย  สร้างไทยให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาคนี้ในการเชื่อมโยงกับโลก   ก็จะทำให้ไทยเป็นฐานด้านการลงทุน  การค้า  Logistic  และการท่องเที่ยวของโลกต่อไป

อนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุด  ที่จะทำให้ทุกอย่างสำเร็จคือ  การเมืองต้องมีเสถียรภาพและคุณภาพทั้งด้านนโยบายและตัวบุคคลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน  และมีมืออาชีพมาช่วยกันบริหารประเทศ  และลดความขัดแย้งของการเมือง