แกะรอยเพลงลาบวช “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ต้นฉบับของแท้ บวช 21 มิ.ย.2512 เผยชีวิตเด็กบ้านนอกสู่นักร้องดัง และเสี้ยวชีวิตหนึ่งเคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก
ตำนานเพลงสุดฮิต “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” มีมากมาย แต่ที่คนไทยจดจำได้ไม่ลืมคือ เพลงไวพจน์ลาบวช และวันที่ 21 มิถุนา กลายเป็นวันที่มีการพูดถึงกันทุกปี ประหนึ่งวันสำคัญของชาติ
ครูจิ๋ว พิจิตร เขียนชีวิต “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ผ่านบทเพลงไวพจน์ลาบวชไว้ครบถ้วน จากถิ่นทุ่งมะขามล้ม บางปลาม้า สู่เวทีไฟแสงสีเป็นดาวลูกทุ่งจรัสฟ้า
เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดัง “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ไม่ลืมบ้านเกิด ได้กลับไปรับใช้พี่น้อง อ.บางปลาม้า ในฐานะสมาชิกสภาจังหวัดสุพรรณบุรี
ในบรรดาสุดยอดเพลงดังของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ควรบันทึกชื่อเพลง “ไวพจน์ลาบวช” ไว้ด้วย แต่เนื่องจากเพลงนี้กลายเป็นอมตะเพลงดัง ครูจิ๋ว พิจิตร ผู้ประพันธ์เพลง ก็เขียนเพลงแนวไวพจน์ลาบวชออกมาอีกหลายเวอร์ชั่น จนหลายคนกังขาว่า ไวพจน์บวชกี่รอบ
ถ้าไปอ่านประวัติ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ตามสำนักข่าวออนไลน์ในเวลานี้ ก็จะเห็นชื่อผลงานเพลง “21 มิถุนา ขอลาบวช” ซึ่งเหมือนกันทุกสำนัก เพราะลอกมาจากวิกีพีเดีย
จริงๆแล้ว ต้นฉบับของแท้คือเพลง “ไวพจน์ลาบวช” ที่ร้องขึ้นต้นว่า “..ยี่สิบเอ็ดมิถุนา ขอลาบวชแน่ แทนคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา…”
ดังนั้น เพลงไวพจน์ลาบวช 21 มิ.ย. ที่หาฟังได้ยูทูบซึ่งขึ้นต้นว่า “..ยี่สิบเอ็ดมิถุนา ที่ผมลาครั้งก่อน แต่ที่บวชแน่นอน บวชกันตอนปีนี้..” เป็นเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นมาทีหลัง และน่าจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลง 21 มิถุนา ขอลาบวช ที่ปรากฏในวิกิพีเดีย
‘21 มิถุนา บวชจริง’
คนรุ่นใหม่อาจตั้งคำถามว่า “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” บวชจริงมั้ย คำตอบคือ ไวพจน์ หรือพาน สกุลณี ในวัย 27 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดวังน้ำเย็น เมื่อ 21 มิ.ย.2512
ปีที่ไวพจน์บวช เป็นช่วงที่มีเพลงดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงตามน้อง, สามปีที่ไร้นาง, แบ่งสมบัติ, สาระวันรำวง ฯลฯ และได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง
เป็นชายไทยต้องบวชให้แม่ได้เกาะชายผ้าเหลือง ไวพจน์จึงวางแผนบวชในช่วงวงดนตรีพักวงช่วงหน้าฝน ครูจิ๋ว พิจิตร จึงเขียนเพลงไวพจน์ลาบวช และพาไวพจน์เข้าห้องอัดแผ่นเสียง
“ยี่สิบเอ็ดมิถุนา ขอลาบวชแน่ แทนคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา แฟนเพลงทั้งหมดไวพจน์ต้องลา ช่วยโมทนากุศลผลบุญ..”
ท่อนหนึ่งครูจิ๋วสอดใส่ประวัติของไวพจน์ หรือพาน สกุลณี “…ท่านรู้หรือยังวัดวังน้ำเย็น ผมเคยวิ่งเล่นแต่เล็กจนใหญ่ ชื่อเด็กชายพาน ชาวบ้านทั่วไป เขายังจำได้ รู้จักเจอะเจอ บ้านมะขามล้มพวกผมทำนา ถิ่นบางปลาม้าเป็นชื่ออำเภอ สุพรรณบ้านเกิด กำเนิดเสมอ ผมแผ่แบเบอร์ให้ท่านรู้ดี..”
เพลงดังเพลงแรกที่สร้างชื่อให้ไวพจน์คือ เพลง “ตามน้อง” แต่งโดย ธร เมธา โดยเล่าเรื่องหนุ่มสุพรรณออกตามหาหญิงคนรักที่ถูกหลอกเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งพอเพลงนี้ดัง ไวพจน์ก็ลาออกจากวงดนตรีรวมดาวกระจาย และตั้งวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ เช่าตึกเป็นสำนักงานอยู่ปากซอยวัดดงมูลเหล็ก ถ.อิสรภาพ ฝั่งธนบุรี
‘นักการเมืองท้องถิ่น’
อีกบทบาทหนึ่งของ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ที่หลายคนอาจไม่รู้ นั่นคือ สมาชิกสภาจังหวัดสุพรรณบุรี หรือ สจ.สุพรรณบุรี เขต อ.บางปลาม้า ช่วงปี 2531-2539 โดยการชักชวนของบรรหาร ศิลปอาชา และประภัตร โพธสุธน
โดยส่วนตัว ไวพจน์เคารพนับถือบรรหาร ในฐานะผู้แทนฯ ที่พัฒนาเมืองสุพรรณจนเป็นที่ประจักษ์ จึงกระโดดลงสนามการเมืองท้องถิ่น
ปี 2559 เมื่อบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 21 ได้ถึงแก่อนิจกรรม ไวพจน์จึงได้เขียนบทกลอนแสดงความอาลัยถึงนักการเมืองอาวุโสชาวสุพรรณฯ
“สุดอาลัยยิ่งนัก รักท่านบรรหาร เป็นเสาหลักปักสุพรรณมานานหลาย ไม่มีแล้วเสาหลักปักกลางใจ ไม่มีแล้วหลักชัยให้เกาะกัน ไม่มีแล้วท่านบรรหาร ในวันนี้ไม่มีแล้วคนดีที่สร้างสรรค์ ไม่มีแล้ว คนดีศรีสุพรรณ..”
นี่คือเสี้ยวชีวิตของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินสามัญชนที่ยิ่งใหญ่ และผลงานเพลงของเขาจะอยู่ในใจคนไทยไปตลอดกาล