ชลประทานโคราชเผย อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทั้ง 27 แห่ง เหลือน้ำไม่ถึง 40% ระบุอากาศร้อนจัดทำให้ประชาชนใช้น้ำเกินแผนที่วางไว้ เตือนเกษตรกรงดปลูกพืชหน้าแล้ง เพราะต้องสงวนน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลัก คาดแล้งยาวถึง มิ.ย.

นครราชสีมา – วันนี้ (2 พฤษภาคม 2567) โครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 483.064 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39.70 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 1,216.72 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแยกออกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือรวม 347.277 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39.22 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 885.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาณน้ำเหลือรวม 135.787 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 40.99 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 331.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ช่วงนี้ต้องบริการจัดการน้ำด้วยความจำกัด โดยเน้นไปที่การจ่ายน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และงดส่งน้ำสำหรับทำการเกษตรทั้งหมด

โดยนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว เหลือปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่ง ประมาณ 62% แต่หลังจากผ่านไป 5 เดือน ตอนนี้เหลืออยู่เกือบ 40% เท่านั้น เท่ากับว่าเราใช้น้ำไปแล้วกว่า 22% ซึ่งถือว่าใช้น้ำไปเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้ เนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประชาชนใช้น้ำไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีการระเหยออกไปมากด้วย นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำมูลบน และลำแชะ อ.ครบุรี ก็ปล่อยน้ำมาช่วยการประปาส่วนภูมิภาค ที่อ่างเก็บน้ำดิบ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติด้วยส่วนหนึ่ง ทำให้ตอนนี้ต้องบริหารจัดการน้ำโดยเน้นไปที่การใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งได้มีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง ทุกกลุ่มก็เห็นด้วย จึงมีการปล่อยน้ำให้เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคและหล่อเลี้ยงระบบนิเวศเท่านั้น แต่ก็มีบางส่วนที่ฝ่าฝืนมติกลุ่ม มีการลักลอบสูบน้ำไปทำการเกษตร ซึ่งกลุ่มนั้นๆ ต้องลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจต่อไป ดังนั้นในช่วงฤดูแล้งที่เหลือ สำหรับน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่เขตชลประทานไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะมีการวางแผนสำรองน้ำไว้แล้ว แต่สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาจจะมีปัญหาบ้าง ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ มีการเตรียมความพร้อมในการหาแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเก็บไว้ และการขุดเจาะน้ำบาดาล หรือถ้าไม่มีน้ำจริงๆ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้รถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป

ถึงอย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา ก็คาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 67 จะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะน้อยกว่าเกณฑ์ และฝนที่ตกลงมาช่วงแรกๆ ก็จะยังไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำแน่นอน เพราะปีนี้สภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ดินค่อนข้างแห้ง ดังนั้นฝนที่ตกลงมาช่วงแรกๆ ก็จะซึมลงดินเป็นส่วนใหญ่ ต้องรอให้ฝนตกลงมาจนทำให้ดินอิ่มน้ำเสียก่อนจึงจะเริ่มมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และช่วงปลายปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์ลานีญ่า หรือช่วงที่มีน้ำมาก ถ้าเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งปีหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ประมาท เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ตอนนี้จึงต้องขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดไว้ก่อน.

ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา