ชาวสวนทุเรียนครบุรี โคราช ปรับตัวสู้อากาศร้อน ให้น้ำทุเรียนทั้งวัน ป้องกันลูกร่วงหล่น

 นครราชสีมา- วันนี้ (2 พฤษภาคม 2567)  เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี  จ.นครราชสีมา ตระเวนลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่อำเภอครบุรี  ให้รับมือและดูแลทุเรียนในช่วงสภาพอากาศร้อนจัดและแล้งยาวนาน  เนื่องจากพบว่าทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีอยู่กว่า 2,000 ไร่ ตอนนี้กำลังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสมานานหลายสัปดาห์ ทำให้ลูกทุเรียนร่วงหล่นเสียหายไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์  นอกจากนี้ ยังกำลังเกิดปัญหาเพลี้ยและแมลงศัตรูของทุเรียน บุกเข้าทำลายต้นทุเรียนเสียหายอีกส่วนหนึ่ง เพราะสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดทำให้เพลี้ยจำพวกเพลี้ยจักจั่นเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงแนะนำให้เกษตรกรหมั่นดูแลและกำจัดแมลงศัตรูพืชเป็นประจำ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายจนทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย

 

ซึ่งนายสังคม ล้อมกระโทก อายุ 59 ปี เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนบ้านหนองมะค่า ต.แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา บอกว่า ปลูกทุเรียนเอาไว้ 3 ไร่ จำนวนกว่า 100 ต้น ในพื้นที่อำเภอครบุรี ตอนนี้อากาศร้อนจัดและมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสมานานหลายสัปดาห์แล้ว ทำให้ทุเรียนที่กำลังติดลูก ร่วงหลุดไปเกือบครึ่ง เพราะอากาศร้อนจัดทำให้โคนต้นทุเรียนแห้งเร็ว ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มระยะเวลาการให้น้ำทุเรียนให้มากขึ้น  ซึ่งปกติจะให้น้ำทุเรียนแบบวันเว้นวัน วันละประมาณ 20 นาที แต่ตอนนี้ต้องให้น้ำทุกวัน และเพิ่มระยะเวลาการให้น้ำอย่างน้อยรอบละ 30 นาที จะเน้นให้น้ำในช่วงที่แดดไม่แรงจัด เพื่อให้ต้นทุเรียนมีความชุ่มชื้นมากขึ้น  หากวันไหนแดดร้อนจัด อากาศแห้งมากกว่าปกติ ก็ต้องเพิ่มระยะเวลาให้น้ำเพิ่มอีกตามความเหมาะสม

 

และจากเดิมต้องตัดหญ้าที่โคนต้นเป็นประจำ ตอนนี้ต้องปล่อยเอาไว้เพื่อให้หญ้าคลุมดินรักษาความชื้นรอบโคนต้นเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำที่รดทุเรียนคงอยู่ สร้างความชุ่มชื่นให้กับโคนทุเรียนให้นานที่สุด ผลผลิตจะได้ไม่ร่วงหลุดออก  นอกจากนี้ ปัญหาแมลงศัตรูพืช อย่างเช่น เพลี้ยจักจั่น ก็เริ่มระบาดมากขึ้น ถือเป็นศัตรูร้ายแรงของต้นทุเรียนเลยทีเดียว เพราะเป็นแมลงที่ใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นทุเรียน และในน้ำลายจะมีสารพิษรุนแรง ไว้ย่อยผนังเซลพืชให้บางลง ทำให้ทุเรียนเกิดอาการใบไหม้และร่วงหล่น ทำให้สังเคราะห์แสงได้ยาก  จนอาจทำให้ทุเรียนถึงขั้นยืนต้นตายได้ในที่สุด  จึงจำเป็นต้องคอยหมั่นสำรวจตรวจสอบต้นทุเรียนและกำจัดแมลงศัตรูพืชให้บ่อยยิ่งขึ้น  ห้ามเผลอปล่อยทิ้งเด็ดขาด

 

ทั้งนี้ การรายงานล่าสุดของสำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี ระบุว่า พื้นที่อำเภอครบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา  มีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนกว่า 3,000 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะปลูกประมาณ 322 ราย ตอนนี้มีทุเรียนที่พร้อมให้ผลผลิตแล้วกว่า 2,000 ไร่ ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 550 กิโลกรัม สร้างเม็ดเงินเข้าพื้นที่ปีละกว่า 100 ล้านบาท แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดในปีนี้ คาดว่า ผลผลิตทุเรียนจะลดลงไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะทำให้เม็ดเงินที่ควรจะได้จากการจำหน่ายทุเรียนปีนี้ หายไปเกือบ 50 ล้านบาทเลยทีเดียว .

ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา