นักวิชาการมหาวิทยาลัยดังโคราช วิเคราะห์กรณี “น้องหยก” ท้าทายบรรทัดฐานสังคม หวั่นมีการเมืองซ่อนเร้นแอบแฝงหาประโยชน์ ชี้ หากกระแสเชื่อมไปที่นโยบายเปลี่ยนของก้าวไกล อาจเสียฐานเสียงสนับสนุน

นครราชสีมา-จากกรณี“น้องหยก” นักเรียนหญิงวัย 15 อดีตผู้ต้องหา ม.112 โพสต์ข้อความถูกไล่ออกจากโรงเรียน เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ ทำให้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น ในมุมของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้มองถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า “จะต้องมองในภาพรวม อย่าไปมองทีละเรื่องเพราะจะมีปัญหา ซึ่งตนมองเป็น 2 ประเด็น คือ 1.วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่แท้จริงที่ออกมาเคลื่อนแบบนี้ มีสิ่งที่ซ่อนเร้นอะไรไว้หรือไม่ จะต้องดูว่า “น้องหยก” หรือคนที่อยู่เบื้องหลัง หรือคนที่หล่อหลอม “น้องหยก” ให้เป็นแบบนี้  มีวัตถุประสงค์อะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ จึงทำให้“น้องหยก” ออกมาแสดงปรากฏการณ์ผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งการปีนรั้ว ต่อต้านกฎระเบียบหรือข้อกำหนด ท้าทายบรรทัดฐานของสังคม  ซึ่งตนไม่ได้บอกว่า บรรทัดฐานนี้จะถูกต้องตลอดเวลา  แต่จะต้องวิเคราะห์ก่อนว่า พฤติกรรมของ “น้องหยก” ที่เกิดขึ้น จะมีเป้าหมายอะไรซ่อนเร้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรหรือไม่

 

ส่วนประเด็นที่ 2 จะต้องยอมรับในภาพรวมด้วยว่า กฎ กติกา ระเบียบของโรงเรียน หรือของหลายๆ หน่วยงาน หรือบรรทัดฐานของสังคมไทย กำลังถูกท้าทายจากโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย การแสดงความคิดเห็น  ระบบที่ศักดินา ระบบอาวุโส ระบบที่ครูครอบนักเรียนอยู่ฝ่ายเดียวกำลังถูกท้าทาย ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าอะไรดี หรืออะไรไม่ดี  แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มีการหยิบฉวยช่องทางนี้มาเคลื่อนไหว เพื่อจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงในที่นี้ ถ้าเราแยกออกจากกันได้ว่า เป็นการทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เหมาะสม  โดยการแก้ไขกฎระเบียบ หรือว่าการทลายกำแพงของการรับฟังความคิดเห็น-การเคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นครู ที่มันสวนกระแสสังคม ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากเป็นการใช้กระบวนการเหล่านี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ตนคิดว่าสังคมเราจะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย

 

ฉะนั้น  กรณีของ “น้องหยก” จึงมี 2 มิติ เหมือนไม่ได้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์  เป็นการสร้างสัญลักษณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า  เพราะหากพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่เหมาะสม ตรงนี้ตนรับได้  แต่ถ้าไปผูกติดสร้างสัญลักษณ์ทางการเมือง จะยิ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยอย่างยิ่ง  หากเป็นกรณีหลัง “น้องหยก” ก็เสมือนเป็นเหยื่อทางการเมือง  ซึ่งกลุ่มก้อนการเมืองที่มีการสนับสนุนให้มีการรับฟังความคิดเห็น รับฟังเสียงประชาชน เปิดรับความเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างเสรี ก็คือพรรคก้าวไกล ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ แต่เมื่อมีกรณีของ“น้องหยก”เกิดขึ้น แล้วมีการนำมาเชื่อมโยงทางการเมือง ตนจึงมองไม่ออกว่า ตอนนี้ใครเป็นเป็นใคร  ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวนี้ ทำให้คนที่มีความคิดเห็นกลางๆ ที่พร้อมจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎ ระเบียบ บรรทัดฐานของโรงเรียน และเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมอย่างเสรี และเรื่องอื่นๆ ย่อมจะเกิดความลังเล และถ้ายิ่งมีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาแอบแฝง แทนที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่พร้อมจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็จะยิ่งทำให้ความนิยมเหล่านี้เสียไปหมด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศรฯ กล่าว .

ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา