เทวัญ ประธานเปิดงานเทศกาลกินเจโคราช ยิ่งใหญ่ ‘อิ้วเก้ง’ อัญเชิญเทพเจ้ากว่า 120 องค์ประทับทรง แห่รอบเมือง
แสดงพลัง Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (5 ตุลาคม 2567) เวลา 08.29 น. ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เป็นประธานในพิธีอัญเชิญเทพเจ้าประทับทรง แห่รอบเมืองโคราช (อิ้วเก้ง) โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุมภ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, สมาชิกสภาเทศบาลฯ, และชมรมไทย-จีน ถือศีลกินเจโคราช ร่วมพิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยปีนี้ได้มีศาลเจ้าต่างๆ ทั้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง กว่า 30 ศาลเจ้า ส่งม้าทรงเทพเจ้า มาร่วมพิธีกว่า 120 องค์ ซึ่งม้าทรงแต่ละแห่ง ได้มีการใช้เหล็กแหลม แทงตามปาก และร่างกาย เพื่อทรมานร่างกาย ก่อนที่จะมีการปล่อยขบวนรถแห่ของศาลเจ้าต่างๆ ไปรอบตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาลถือศีลกินเจ ประจำปี 2567 โดยมีประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ร่วมในพิธีกันอย่างเนืองแน่น
นายเทวัญ กล่าวว่างานประเพณีกินเจโคราช และพิธีอัญเชิญเทพเจ้าประทับทรง แห่รอบเมืองโคราช (อิ้วเก้ง) ประจำปี 2567 มีการจัดขบวนแห่องค์เทพเจ้าจีนจากศาลเจ้าต่างๆ ไปตามเส้นทางหลัก เพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนได้นมัสการสักการะกราบไหว้เปลี่ยนธูปเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาร่วมพิธีในครั้งนี้ และขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ศาลเจ้า มูลนิธิ องค์กรการกุศล ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครราชสีมาทุกท่าน ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และยังช่วยส่งเสริมจริยธรรมและยกระดับจิตใจของคนในชาติ และที่สำคัญ เป็นการแสดงพลัง Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับพิธีอิ้วเก้ง (อิ้วเก้งหรือยั่วเก้ง) เป็นหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะในชุมชนที่มีความเชื่อในศาสนาเต๋าหรือศาสนาพุทธแบบจีน พิธีนี้เป็นการอัญเชิญเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับทรง เพื่อทำการแห่รอบเมืองหรือชุมชน เพื่อปัดเป่าภัยพิบัติ เสริมสิริมงคล และเป็นการเฉลิมฉลองถึงความเมตตาของเทพเจ้า
ในจังหวัดนครราชสีมา พิธีอิ้วเก้งจะมีการแห่ขบวนอย่างยิ่งใหญ่ โดยผู้ศรัทธาจะถือธงสีแดงและสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ มีการจุดประทัดและบูชาด้วยธูปเทียนตามสถานที่ต่างๆ ในเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่าน ผู้เข้าร่วมพิธีมีการทรงเจ้า ซึ่งหมายถึงการประทับของเทพเจ้าผ่านร่างของมนุษย์ ผู้ทรงเจ้าจะมีพฤติกรรมการแสดงออกถึงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เช่น แทงตัวด้วยของมีคม เพื่อแสดงถึงการคุ้มครองจากเทพเจ้า
“พิธีอิ้วเก้ง” เป็นเครื่องหมายของความศรัทธาและความเชื่อในการปกป้องคุ้มครองของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ชาวจังหวัดนครราชสีมา ยังคงรักษาประเพณีนี้อย่างเข้มแข็งตลอดหลายปีที่ผ่านมา.