“ไทย” เตรียมทำ MOU กับ “จีน” พัฒนาวัคซีนพิชิตโควิด-19

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 โดยมีกลยุทธ์เพื่อสร้างการเข้าถึงวัคซีนให้กับประเทศไทย เบื้องต้น คือ

-นำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศที่มีการทดลองมาทดสอบวิจัยต่อในประเทศไทย

-มีแผนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต

-ทำข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศไทย เร่งพัฒนาวัคซีนสำหรับประเทศไทยโดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมโรงงานผลิตวัคซีนที่พร้อมดำเนินการ

ส่วนเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนให้เร็วที่สุด คาดการณ์ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยจะไม่สงบจนกว่าประชากรมากกว่าร้อยละ 60 หรือประมาณ 35 ล้านคน จะมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งก็จะใช้เวลานานและอาจเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างประเมินไม่ได้ หากจะรอซื้อวัคซีนจากต่างประเทศอาจทำได้ยากเพราะต้องรอเวลานานและอาจมีราคาสูงทำให้การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่การผลิตวัคซีนในประเทศจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากอาจจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องมีทั้งบุคลากรและโรงงานที่ดำเนินการผลิต ฉะนั้นจึงไม่สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นได้

สำหรับการลงทุนพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนในประเทศจะทำให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ เมื่อเกิดขึ้นได้จริงแล้วก็จะมีการพัฒนาสู่การผลิตวัคซีนเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย

ขณะนี้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของไทย ซึ่งคณะแพทย์ศิริราช , คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล , คณะเภสัช จุฬาฯ และ บริษัทเอกชน (ไบโอเนท เอเชีย) ได้เริ่มทำการทดลองอย่างต่อเนื่อง ของไทยพัฒนาอยู่ในระยะที่ 2 จากทั้งหมดที่มี 3 ระยะ คือ

1.ระยะให้ความปลอดภัย

2.กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

3.ให้ผลในการป้องกัน

ตอนนี้ประเทศไทยมีสถาบันที่ทำการทดสอบวัคซีนกับสัตว์ทดลองแล้ว คือ ที่ ม.จุฬาฯ ทดลองฉีดวัคซีนไปยังหนูทดลองไป 2 ครั้ง อยู่ระหว่างดำเนินการ และ ม.มหิดล ที่มีการเริ่มฉีดวัคซีนทดลองลองกับสัตว์ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะคอยดูแลและสนับสนุน

ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ก้าวหน้าสูงที่สุด เช่นเดียวกับที่มีข่าวว่าทางประเทศจีนได้ทดลองวัคซีนโควิด-19แล้วในมนุษย์ ซึ่งนับเป็นข่าวดีของโลกและทางประเทศไทยเองได้มีการเจรจากับสถานฑูตจีนขอความร่วมมือลงนาม MOU กับทางการจีนในการร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 พิชิตโควิด19 โดยแนวโน้มที่จะได้รับความร่วมมือสูง