“นายกฯ” ร่วม “ประชุมสุดยอดอาเซียน” ครั้งที่ 36 ผ่านระบบทางไกล พร้อมกล่าวถ้อยแถลง เสนอ 3 แนวทาง ขับเคลื่อน “อาเซียน” ยุคหลัง “โควิด-19” ย้ำ ต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกเตรียมการในทุกมิติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศและเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย
ในช่วงแรกของการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวเปิด ซึ่งมีใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ เศรษฐกิจของอาเซียนใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้ว 6 ฉบับ กับ 7 หุ้นส่วนใหญ่ของโลก ทำให้อาเซียนได้รับการยอมรับว่าเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจของโลก จากความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่โลกไม่เคยประสบมาก่อน อาเซียนจำต้องใช้โอกาสและประสิทธิภาพที่มีให้เป็นประโยชน์สูงสุด
1. สันติภาพ ความมั่นคง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความรุ่งเรือง จะยังคงเป็นเป้าหมาย และเอกลักษณ์ที่สำคัญของอาเซียน
2. ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแบบไร้รอยต่อ
3. ความสามารถในการฟื้นตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
4. การเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในอนุภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ โดยสาระสำคัญถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ส่งผลให้ไทยและประชาคมโลกอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่และในขณะเดียวกันก็กำลังรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวนมากขึ้นส่งผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ ซึ่งอาเซียนควรร่วมมือกันเสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการช่วยเหลือกันในระดับโลก
โดยนายกฯ ได้เสนอ 3 แนวทาง เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 ได้แก่ 1. เร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC) 2025 และส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่ออาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างแท้จริง อาเซียนควรเริ่มพิจารณาแนวทางการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทางระหว่างกันของประชาชน
2.เร่งขับเคลื่อนบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน และเร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในช่วยให้อาเซียนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้น ตลอดจนต้องต่อยอดจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตาม โมเดลเศรษฐกิจ BCG
และ3.เร่งเตรียมความพร้อมต่อความผันผวน และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในระยะยาว โดยนายกฯ สนับสนุนให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อวางแนวทางให้แก่อาเซียนในอนาคต โดยต่อยอดจากความสำเร็จต่าง ๆ และควรครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการป้องกันแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้วย
ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำว่า อาเซียนต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกเตรียมการในทุกมิติ ต้องยึดมั่นแนวทางการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานข้ามชาติ และในตอนท้าย นายกฯ ได้ร่วมรับรอง วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง พร้อมแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นในอาเซียน ควบคู่ไปกับการแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยภายหลัง ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ถึงข้อเสนอการเปิดประเทศที่ได้กล่าวต่อที่ประชุมอาเซียน รวมถึงให้มีการตกลงด้านสาธารณสุขร่วมกัน ว่า จะต้องหารือกันอีก ต้องใช้เวลา และดูสถานการณ์ทั้งภายในภายนอกด้วย โดยจะต้องมีความพร้อม อย่างที่เคยบอกว่าจะต้องมีแบบเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะเที่ยวบินเพื่อให้แต่ละพื้นที่ได้เตรียมความพร้อม ในการดูว่า จะไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งทั้งสังคมและประชาชนจะต้องดูแลด้วย ถ้าผลีผลามไปก็จะอันตราย ขอให้เห็นใจรัฐบาลก็มีมาตรการอีกมาก
นายกฯ กล่าวว่า โดยเมื่อวานนี้ มีการหารือกันและมีความกังวล เรื่องการป้องกันและดูแลสุขภาพ ที่ยังจะต้องทำอย่างเข้มงวดต่อไป โดยต้องทำควบคูกันไป ไม่เช่นนั้นก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ทั้งหมด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย