วัดศาลาทอง ตำนานหลวงพ่อใหญ่ วัดที่ สท.เขต 2 โคราช ปักหมุดเช็คอิน ฟังเจ้าอาวาส
“วัดศาลาทอง” เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย เก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมเรื่องอำนาจ ปกครองแผ่นดิน ตั้งอยู่เลขที่ 12 ถ.เบญจรงค์ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองนครราช มีเนื้อที่ 50 ไร่เศษ ทิศตะวันออกติดกับโรงเรียนบ้านหัวทะเล ทิศตะวันตกติดกับวัดศาลาเย็น ทิศเหนือติดกับสระน้ำ ทิศใต้ติดกับบ้านหนองโสน
วัดแห่งนี้ครั้นเมื่อสมัยขอมปกครองอยู่มีชื่อว่า “วัดป่าเลไลย์”ต่อมาเปลี่ยนเป็น”วัดป่าเลไลย์ทอง”และเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงปกครองแผ่นดินสยาม โปรดให้สร้างเมือง”โคราฆปุระ”หรือเมืองโคราชจ.นครราชสีมาในปัจจุบัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น”วัดศาลาทอง”
สิ่งปลูกสร้างภายในวัด 1.พระอุโบสถทรงจตุรมุข หรือมีหน้าบัน 4 ด้าน อย่างพระปรางค์ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้งถ้าตัดมุขทั้ง 4 ด้านออก ซึ่งจะไม่เหมือนรูปอุโบสถอย่างไทยนิยนในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีหลังคาลาดชัน การบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2481 นางเลียบ ชิ้นในเมืองพร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ร่วมกันสละทุนทรัพย์สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่เป็นไม้ มีความทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ตั้งแต่สัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นลักษณะเดิมแต่เป็นคอนกรีตทั้งหลัง เพื่อคงรักษาลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมอย่างขอมโบราณ ผู้ออกแบบพระอุโบสถคือ พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิริยาจารย์ (พระมหาสุทัศน์ สุทสสโน ป.ธ.6)ได้ป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง นำพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนร่วมกันก่อสร้างจนสำเร็จสมบูรณ์ เมื่อพุทธศักราช 2483 ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2535 ได้มีการบูรณะเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาครั้งใหญ่แทนสีใหม่ทั้งหลัง โดยการนำของพลตำรวจตรีชนัน ชานะมัย อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 3 และเมื่อปีพุทธศักราช 2547 มีการบูรณะโครงหลังคาจากไม้เป็นโครงเหล็กทั้งหลัง รวมถึงบันไดทางขึ้นอุโบสถทั้ง 4 ด้าน โดย พระครูสิริเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
2.พระประธานในพระอุโบสถ ปางป่าเลไลย์ หรือ ” หลวงพ่อใหญ่ ” (ปางป่าเลไลย์) หมายถึง ทรงนั่งบนพระแท่นพระหัต์ขวาวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายคว่ำ ทอดพระเนตรต่ำ เนื้อพระวรกายเป็นสีทองคำอร่าม ริมพระโอษฐ์เป็นสีแดงสดเบื้องล่างด้านขวามีช้างหมอบอยู่นามว่าพญา”ปาลิไลย์กุญชร” ด้านซ้ายมีลิง ท่านั่งถวายรังผึ้งนามว่า”พญามกุฏวานร”
ดังปรากฏเป็นพุทธตำนาน ด้วยสัตว์เดียรัจฉานทั้งสองถึงความเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธองค์ แม้จักมีภพเป็นสัตว์แต่หาได้ลดละความสำเนียกใน พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และมหากรุณาธิคุณ ต่อเวนัยสัตว์ทั้งปวงไม่ จึงพากันปวารณาตนช่วยกันอุปฐากรับใช้พระพุทธองค์ ขณะทรงบำเพ็ญพุทธบารมีในป่าจนถึงกาลเสด็จออกพ้น ทั้งพญาปาลิไลย์กุญชร พญามกุฏวานรได้รับพระบัญชาให้อยู่ในป่าต่อไปตามจริตของสัตว์ มิทรงพุทธานุญาตให้โดยเสด็จ จึงพากันใจขาดตายแล้วไปปฏิสนธิในภพ ภูมิสูงขึ้นด้วยบุญญานุภาพอานิสสงฆ์ดังที่กล่าวข้างต้น) ความสูงจากยอดพระเกศถึงฐานพื้นเบื้องล่าง ประมาณ 4.10 เมตร
ขนาดองค์พระประธาน มีความสูงจากพระบาทฐานถึงพระรัศมี 5.10เมตรวัดโดยรอบพระต้นพระกร รวมอุระ 3.10เมตร พระบาทสูงจากพื้น 0.50เมตร พื้นพระอุโบสถยกสูงจากพื้นดิน 1.80เมตร ไม่มีดอกบัวรองรับพระบาท ครองผ้าเฉวียงอังสะ พาดสังฆาติคล้ายพระสงฆ์ลงโบสถ์ทำสังฆกรรม ผินพระพักต์ไปทางทิศตะวันออก พระกรทั้งสองพาดพระเพลา เป็นกิริยารับถวายน้ำเต้าและรวงผึ้งจากช้างและวานร
3. ที่ประดิษฐานปูชยีย์สถานที่สำคัญ คือ พระสัมพุทธเจดีย์ศรีสิงหนาท ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันเสาร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ อัฐศก ตรงกับวันที่ 22 กันยายน พุทธศักราช 2489 ทำการก่อสร้างพระเจดีย์ฯเป็นสององค์ครอบทับกันอยู่ องค์ใหญ่ความสูง 32.60 เมตรฐานวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 21.60 เมตร องค์เล็ก ความสูง 7.20 เมตร ฐานวงกลมเส็นผ่านศูนยบ์กลาง 4.80 เมตร
“ตามหลักฐานคำกล่าวรายงานของ พลโทส.ไสว แสนยากร ต่อ จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในโอกาสมาเป็นประธานพิธีบรรจุพระบรมสารริกธาตุ ณ วัดศาลาทอง จ.นครราชสีมา เมื่อวันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน ยี่ ปีมะเส็ง เบญจศก ตรงกับวันที่ 13 มกราคม พุทธศักราช 2496
“ความตอนหนึ่งว่า”ในวันที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2485 ขณะที่กองพลทหารที่ 3 (กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ในปัจจุบัน)ขณะทำการปฏิบัติ ก่อสร้างสะพานสำรองข้ามแม่น้ำอิง ที่ อ.พะเยา จ.เชียงราย ร้อยโทวงศ์ เสริมธน ได้ขุดพบ ผอบ 7 ชั้น จำนวน 4 องค์ สันนิษฐานว่าน่าจะมีสิ่งสำคัญบรรจุอยู่ภายใน กองพลที่ 3 จึงได้ตั้งเรื่องตรวจสอบไปยังกรมศิลปากร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากรขณะนั้น คือ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้ทำการพิสูจน์และยืนยันว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุ”
เมื่อเป็นที่ปรากฏดังนั้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองจึงได้จัดงานฉลองพระบรมสารีริกธาตุขึ้นที่พระนคร จนเกิดความน่าอัศจรรย์ต่อการเคารพบูชาขึ้นหลายสิ่ง ต่อมา จอมพลผิน ชุณหะวัณ ท่านได้ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง อัญเชิญไปประดิษฐานยัง วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระนคร อีกส่วนหนึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานยัง มณฑลอิสาน ณ วัดศาลาทอง จ.นครราชสีมา เพื่อก่อให้เกิดมิ่งขวัญ และความเป็นสิริพิพัฒนมงคล แก่บรรดา เหล่าทหารและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
อนึ่ง ท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า แม้นเมื่อเสร็จศึกสงครามมหาเอเชียบูรพาลงเมื่อใด แลบังเกิดความผาสุกขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จักได้สร้างพระเจดีย์อันเป็นเหมาะสม บังควรถวายเป็นศรีสง่า ให้พุทธบูชา ของประชาชนชาวอิสาน และประเทศชาติสืบไปเบื้องหน้า ดังที่ปรากฏเป็นสาระสำคัญที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
“วัดศาลาทอง” ในทุกๆปี จะมีเทศกาลตรุษสงกรานต์ได้มีพิธีไหว้สรงน้ำพระประธานในพระอุโบสถ ปางป่าเลไลย์ หรือ ” หลวงพ่อใหญ่ ” อาณาประชาชนรวมทั้งข้าราชการที่อยู่ในเมืองต่างพาครอบครัวบุตรหลานไปไหว้พระปิดทองถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการบูชา” หลวงพ่อใหญ่”
ศรัทธาความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อ หญ่” กล่าวกันว่าถ้าบุคคลเกิดเรื่องราวอะไรขึ้น ถึงกับต้องสบถสาบานกันแล้วทั้งสองฝ่ายมักจะไปกระทำกันต่อหน้าพระประธานที่วัดศาลาทอง และถ้าผู้ใดเสียสัตย์ปฏิญาณก็มักจะมีอันเป็นไปในทางร้ายต่างๆตามที่ได้สบถสาบานกันไว้ หรือทหารสมัยก่อนที่จะต้องออกรบ ทำสงครามก็ไปกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ บางคนที่มีลูกยากก็มาขอลูก หรือบุคคลที่มีความทุกข์ร้อนก็มากราบไหว้ขอพรท่านก็จะประสบความสมหวัง