“รัสเซีย-ยูเครน” ร่างแผน “เป็นกลางทางทหาร” หวังปูทางยุติสงคราม ขณะที่ ศาลโลกพิพากษาให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ทันที
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ระบุว่า เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวอย่างน้อย 3 คน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ว่า “มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ” เกี่ยวกับ “แผนสันติภาพเบื้องต้น 15 ข้อ”
สำหรับเงื่อนไขสำคัญยังคงเกี่ยวข้องกับการหยุดยิงและการถอนทหารของรัสเซีย โดยรัฐบาลมอสโกพร้อมสั่งให้มีการถอนทหารทั้งหมดออกจากยูเครน เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลเคียฟประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่อง “สถานะเป็นกลางทางทหาร” และยอมรับ “กองทัพที่มีขนาดและศักยภาพจำกัด”
ขณะเดียวกัน ยูเครนต้องยอมรับและยกเลิกแผนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) และการไม่มีความร่วมมือกับนาโตในทุกรูปแบบ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัสเซีย ว่ายูเครนจะไม่ให้ประเทศตะวันตกใช้พื้นที่ตั้งฐานทัพ
อย่างไรก็ตาม สถานะของไครเมีย และอีกสองเขตในภูมิภาคดอนบาส ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน ได้แก่ เขตโดเนตสก์ และเขตลูฮันสก์ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาต่อ โดยรัฐบาลมอสโกต้องการให้ยูเครนยอมรับดินแดนทั้งสามแห่ง “เป็นของรัสเซีย” แต่รัฐบาลเคียฟยังไม่ตกลง
นอกจากนี้ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานโดยอ้างเป็นคำกล่าวของนายมิไคโล โพโดลยัก ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ว่าตอนนี้ยูเครนอยู่ในสถานะ “รัฐคู่สงครามโดยตรง” กับรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ แนวทางใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ “เป็นเรื่องของชาวยูเครนเท่านั้น” และ “หลักประกันด้านความมั่นคง” เป็นสิ่งที่ “ต้องมีผลผูกพันทางกฎหมาย”
ด้านคณะตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก มีคำพิพากษา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ด้วยมติ 13 ต่อ 2 เสียง ให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา “ทันที”
ขณะเดียวกัน ศาลโลกเรียกร้องรัสเซียสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ว่ากองกำลังในยูเครนที่มีแนวคิดฝักใฝ่หรือได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลมอสโก จะไม่เคลื่อนไหวทางทหารเช่นกัน
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลโลกมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่คณะตุลาการ “ไม่มีอำนาจสั่งการ” ให้มีการบังคับใช้คำตัดสินดังกล่าว อีกทั้งไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาชัดเจน ว่าคู่กรณีต้องปฏิบัติตามภายในเมื่อใด จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศมักไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามแต่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ อาทิ กรณีคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 2561 ให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเตหะรานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “สินค้าด้านมนุษยธรรม” เนื่องจากเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของศาลโลก เป็นผลจากการร้องเรียนของยูเครน เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ขอให้ศาลโลก “มอบความคุ้มครองชั่วคราว” แก่ยูเครน “จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แสดงความยินดีต่อคำพิพากษาของศาลโลก ว่าเป็น “ชัยชนะ” ของยูเครน ส่วนรัฐบาลมอสโกซึ่งไม่เคยส่งผู้แทนไปชี้แจงต่อคณะตุลาการ กล่าวว่า การพิจารณาคดีของศาลโลกครั้งนี้ “ไร้สาระ”