นายอรัญ พันธุมจินดา ผู้อำนวยการ พรรคชาติพัฒนากล้า ชงโละโครงสร้างบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น แก้ รธน. กระจายอำนาจ
“ชาติพัฒนากล้า” เสนอโละโครงสร้างบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น แก้ รธน. กระจายอำนาจ ปรับปรุงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. เป็น 2 ใน 8
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 นายอรัญ พันธุมจินดา ผู้อำนวยการ พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนาบทบาทท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่กรุงเทพธุรกิจ จัดขึ้นว่า หากพูดถึงการกระจายอำนาจไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศซึ่งความคิดเช่นนั้นไม่ถูกต้อง ประเทศไทยมี อปท.ดูแลประชาชนในการดำเนินกิจการสาธารณะทั่วทั้งประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญมาก ในการที่จะดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับของประเทศไทยกำหนดให้ อปท.ต้องดำเนินการ การปกครองตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยมีหัวใจสำคัญ ในการกระจายอำนาจ 2 ประการ คือ 1.ความอิสระ ทั้งในเรื่องการบริหารนโยบาย การเงินและการคลัง 2.ต้องได้รับอำนาจจากส่วนกลางแต่ในกฎหมายไม่ได้ให้ไว้
ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่า อปท.ไม่ได้มีอิสระและอำนาจเท่าที่ควร เนื่องจากถูกควบคุมจากส่วนกลาง และภูมิภาค ที่ต้องปฏิบัติตามแผนนโยบายของจังหวัด อีกครั้งยังต้องมาบูรณาการ กับกลุ่มจังหวัดยิ่งทำให้ความอิสระยิ่งห่างไกลจากประชาชน แม้ตัวกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญได้มีการพูดถึงการกำกับดูแล อปท.แต่กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่า ให้กำกับเท่าที่จำเป็น
ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแล อปท.กว่า 6,000 แห่ง จึงทำให้เกิดคำถามว่าเพียงพอในการสนับสนุนให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งหรือไม่ การบริหารที่ถูกปิดกั้นการให้อิสระ และอำนาจปกครองเป็นความตนเอง
นายอรัญ ระบุต่อว่า ดังนั้นการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ อปท.เป็นสิ่งที่จะต้องปรับปรุง และรื้อโครงสร้างการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น ทั้งการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดไปจนถึงการบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายอรัญ ยังเห็นด้วยในการปรับปรุงแนวทางการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเพิ่มสัดส่วนให้กับท้องถิ่นเป็น 2 ใน 8 หรือ 3 ใน 8 ก็ถือเป็นนโยบายของพรรคอยู่แล้ว โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมี 3 รูปแบบ 1 ส่วนกลางเก็บเองทั้งหมด 2 ส่วนกลางเก็บ และแบ่งให้ส่วนท้องถิ่น 3 กฎหมายให้ส่วนท้องถิ่นดำเนินการเอง อย่างไรก็ตามทางพรรรคก็ส่งเสริมการสนับสนุนให้ อปท.ได้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 35% อยู่แล้ว
ในขณะที่การโอนงบประมาณ โอนคน ให้กับ อปท.นั้น จำเป็นจะต้องดูความพร้อมในแต่ละท้องถิ่นด้วยว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รวมถึงเรื่องงบประมาณ หากไม่พิจารณาถึงส่วนนี้ก็จะดูเหมือนเป็นการผลักภาระให้ท้องถิ่น
สำหรับแนวคิดการยุบส่วนภูมิภาคหรือลดขนาดแล้วโอนงาน โอนเงิน ให้กับส่วนท้องถิ่นนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องขับเคลื่อนกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ต้องให้เกิดความสอดคล้องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น อะไรที่ทับซ้อน หรือไปควบคุม อปท.ก็ต้องทบทวน เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน หากลดขนาด แต่ต้องคำนึงถึงภารกิจด้วย
@chartpattanakla อรัญ พันธุมจินดา ชพก เสนอโละโครงสร้างบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น แก้ รธน. กระจายอำนาจ ปรับปรุงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. เป็น 2 ใน 8#ชาติพัฒนากล้า ♬ เสียงต้นฉบับ - ชาติพัฒนากล้า