นพ.วรรณรัตน์ ชาติพัฒนา อภิปรายสนับสนุน รัฐบาลเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี
เพื่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา อภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ว่าขอสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการที่จะพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต เพื่อความยั่งยืน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแบบใหม่ และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ํา และพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่ไปกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้ออํานวยให้เอกชนสามารถผลิตหรือซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้ซื้อไฟฟ้าได้โดยตรง หรือที่เรียกว่า Direct PPA คือ การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) นโยบายการเปิดตลาดเสรีไฟฟ้านี้จะเป็นปัจจัยสําคัญที่จะสะท้อนราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริง เนื่องจากผู้ผลิตซึ่งมีอยู่มากมายในตลาดจะเกิดการแข่งขันกันในด้านราคา โดยพยายามควบคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของตนเอง ให้อยู่ในระดับที่ต่ําที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ไฟฟ้ามีราคาถูกลง และมีความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
สําหรับผู้ค้าปลีกก็จะเกิดการแข่งขันเพื่อจะสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า และสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้า อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้ไฟฟ้าตามความพอใจของตนเองมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องถูกบังคับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเท่านั้น
การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบของการซื้อขายไฟฟ้ากันโดยตรง หรือ Direct PPA นั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญอันหนึ่ง นอกจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการซื้อขายไฟฟ้าพลังสะอาดภายในประเทศแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศได้ด้วย เพราะการให้ความสําคัญกับการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน หรือ คาร์บอน นิว ควอลิตี้ ภายในปี ค.ศ.2050 ศูนย์ที่เป็นเป้าหมายร่วมกันของชาวโลกนั้น แต่กลับกลายมาเป็นเงื่อนไขสําคัญอันหนึ่งของการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทข้ามชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนด้าน Data center ในประเทศไทยเป็นต้น ดังนั้น เรามีความจําเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับซึ่งก็ถือว่ารัฐบาลได้เดินมาถูกทางแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดเสรีไฟฟ้าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายเรื่องด้วยกัน เนื่องจากการซื้อขายไฟฟ้าเสรี ไม่ได้หมายความว่า เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า แต่จะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าผ่านตลาดซื้อขายไฟฟ้ากลาง หรือเรียกว่า ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า ที่เรียกว่า พาวเวอร์พูล มาร์เก็ต ซึ่งการก่อตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านั้น ก็คล้ายๆ กับการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ เพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายและออกกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมารองรับ รวมทั้งการเตรียมการในด้านต่างๆ ให้พร้อมเป็นต้น การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า หรือ energy trading platform เพื่อกําหนดระบบของการซื้อขายไฟฟ้า ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล การก่อตั้งองค์กรหรือปรับโครงสร้างองค์กร หรือการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ขององค์กร เพื่อรองรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการแยกการบริหารจัดการระบบสายส่งไฟฟ้าออกจากระบบการผลิต หรือการจําหน่ายไฟฟ้าเป็นต้น
การพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า ให้พร้อมต่อการรองรับระบบตลาดไฟฟ้าเสรี เช่น การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเป็นระบบสมาร์คติก และปรับเปลี่ยนมิเตอร์ เป็นสมาร์ทมิเตอร์เพื่อรองรับการพัฒนาระบบเน็ตมิเตอร์ริ่ง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จําเป็นต้องดําเนินการอย่างเป็นระบบค่อยเป็นค่อยไป มีความละเอียดรอบคอบ และต้องใช้เวลาของการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายตามนโยบายที่สรุปไว้
สุดท้าย อยากจะฝากรัฐบาลว่าอัตราค่าไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี ไม่ได้ทําให้ค่าไฟฟ้าถูกลงเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่ปริมาณกําลังผลิตไฟฟ้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการผันผวนของราคาไฟฟ้าเกิดขึ้น และอาจจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงขึ้นได้ ดังนั้น การสร้างเสถียรภาพความมั่นคง ในการสร้างความสมดุลของระบบไฟฟ้าของประเทศก็เป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องคํานึงถึงเป็นอย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน
#ชาติพัฒนา#ตลาดไฟฟ้าเสรี# Direct PPA