31 ปี รสช.รัฐประหาร
โค่นรัฐบาล “ชาติชาย ชุณหะวัณ ”
“พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ “ หรือบิ๊กจ๊อด ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก่อรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2534 โค่นล้มรัฐบาล “พลเอกขาติชาย ชุณหะวัณ”
ครบรอบ 31 ปี เหตุการณ์ในวันที่ 23 ก.พ.2534 คณะทหารเรียกตนว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ “หรือ รสช. ได้นำกำลังยึดอำนาจล้มรัฐบาลของนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คณะ รสช.มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือบิ๊กจ๊อด ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า แต่ผู้ที่มีอำนาจแท้จริงคือ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.สุจินดา คราประยูรการยึดอำนาจครั้งนั้น คณะทหารเข้าควบคุมตัว พล.อ.ชาติชาย และพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม บนเครื่องบินซี 130 ที่สนามบินดอนเมือง ขณะ พล.อ.ชาติชาย กำลังจะนำ พล.อ.อาทิตย์ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง จึงเป็นการยึดอำนาจครั้งแรกที่ใช้วิธีการจี้จับตัวนายกฯ บนเครื่องบิน ขณะที่เครื่องบินกำลังจะขึ้นบิน เหตุผลก่อการหลักๆ คือ พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภาและบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบัน
การปฏิวัติครั้งนั้น เชื่อกันว่าคณะทหารต้องการจะล้างอำนาจพรรคการเมืองและนักการเมืองเลือกตั้งที่เริ่มจะเข้มแข็งขึ้นและมีการใช้เงินทุนมากมาย
ดังนั้น นอกจากจะล้มรัฐบาล และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ยกเว้นการยุบพรรคการเมืองดังที่คณะทหารชุดก่อนๆ ได้เคยทำกันมาแล้ว คณะ รสช. ยังสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่เป็นคนสำคัญและมีชื่อเสียงหลายคนจากหลายพรรค
พร้อมกันคณะทหารประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 ในการปกครอง และตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนักกฎหมายชั้นนำและนักวิชาการเข้าร่วม ซึ่งจัดทำรัฐธรรมนูญได้เสร็จภายในเวลาไม่ถึงปี ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2534 นำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2535
การเลือกตั้งรอบนั้น เปิดโอกาสให้นักการเมืองลงสนามเลือกตั้ง แต่คณะทหารที่ยึดอำนาจจากนักการเมืองขอความร่วมมือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อดำเนินกิจการทางการเมือง
ดังนั้น การที่จะตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่ทำในช่วงเวลาแรกของการยึดอำนาจจึงมีความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีผลอะไรออกมามากนัก
ผลพวงจากการเลือกตั้งรอบนั้นและสถานการณ์ทางการเมืองนับจากนั้น นำมาสู่การเสนอนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก่อนตามมาด้วยเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอีกเหตุการณ์ นั่นคือ พฤษภาทมิฬ