จักรพรรดิญี่ปุ่น พร้อมประกอบพิธีสละราชย์ของจักรพรรดิครั้งแรกในรอบ 200 ปีบ่ายวันนี้

จักรพรรดิญี่ปุ่น พร้อมประกอบพิธีสละราชย์ของจักรพรรดิครั้งแรกในรอบ 200 ปีบ่ายวันนี้

พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น กำลังจะมีขึ้นในเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว หรือราว 15.00 น. ตามเวลาของประเทศไทยในวันนี้ (30 เม.ย.) โดยถือเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกในรอบ 200 ปี ที่สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นมีพระราชประสงค์จะทรงสละราชสมบัติด้วยพระองค์เอง

คาดว่าพระราชพิธี ไทอิเร-เซเด็น-โนะ-งิ หรือพระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิ จะมีขึ้นที่ห้องมะสึโนะมะ ซึ่งเป็นห้องพิธีการในพระราชวังหลวง แต่ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีส่วนใหญ่จะมีขึ้นเป็นการส่วนพระองค์

ในเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นในวันนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ จะเสด็จออกยังห้องพิธีการดังกล่าว โดยมีข้าราชบริพารเข้าเฝ้าอยู่ด้วยราว 330 คน พิธีการต่าง ๆ จะเสร็จสิ้นลงโดยสมเด็จพระจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการเป็นครั้งสุดท้าย แต่จะยังคงถือว่าทรงครองราชย์อยู่ต่อไปจนถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาที่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ

เหตุใดสมเด็จพระจักรพรรดิจึงสละราชสมบัติ?

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะซึ่งทรงมีพระชนมพรรษา 85 พรรษาแล้วในปีนี้ ได้มีพระราชดำรัสเมื่อปี 2016 ว่า ทรงเกรงว่าความชราจะทำให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อไปอย่างยากลำบาก ทั้งยังตรัสเป็นนัยอย่างชัดแจ้งว่ามีพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติ

สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชดำรัสในครั้งนั้นว่า “เมื่อข้าพเจ้าเล็งเห็นว่าสุขภาพร่างกายของตนอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ทำให้มีความกังวลว่าอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะสัญลักษณ์ของรัฐ”

ผลการสำรวจความคิดเห็นระดับประเทศชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างเข้าใจและรู้สึกเห็นอกเห็นใจสมเด็จพระจักรพรรดิในกรณีนี้ ทำให้ในปี 2017 รัฐสภาญี่ปุ่นจึงออกกฎหมายรับรองสิทธิในการสละราชสมบัติ ซึ่งเปิดทางให้พระองค์สามารถพ้นจากตำแหน่งพระจักรพรรดิได้ โดยหลังจากนั้นจะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “โจโก” หรือ “พระเจ้าหลวง” ต่อไป

มกุฎราชกุมารผู้สืบทอดบัลลังก์เบญจมาศคือใคร?

เจ้าชายนารุฮิโตะ องค์มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ในรัชสมัย “เรวะ” ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 0.01 น. ของวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยจะมีพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในเวลาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการประกอบพระราชพิธีขึ้นครองราชย์

ปัจจุบันว่าที่สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126 มีพระชนมพรรษา 59 พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และทรงได้รับการสถาปนาเป็นองค์มกุฎราชกุมารเมื่อวัย 28 พรรษา

ในปี 1986 ทรงพบรักกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ นักการทูตของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นในงานเลี้ยงน้ำชาแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาทรงได้อภิเษกสมรสกับเธอในปี 1993 ทั้งสองพระองค์มีพระธิดาเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าหญิงไอโกะ ซึ่งประสูติเมื่อปี 2001 แต่ตามกฎมณเฑียรบาลของราชสำนักญี่ปุ่นแล้ว ไม่อาจจะทรงเป็นรัชทายาทของราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศได้

เมื่อเจ้าชายนารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแล้ว พระอนุชาคือเจ้าชายฟุมิฮิโตะ ซึ่งปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าอะกิชิโนะ จะกลายมาเป็นพระรัชทายาทผู้สืบสันตติวงศ์ลำดับที่ 1 และเจ้าชายฮิซะฮิโตะ พระโอรสของเจ้าชายฟุมิฮิโตะจะทรงเป็นพระรัชทายาทลำดับที่ 2

ชาวญี่ปุ่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้กันอย่างไร?

พระราชพิธีสละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิในครั้งนี้ ตรงกับช่วงวันหยุดยาวโกลเดนวีก (Golden Week) ที่มีอยู่เป็นประจำทุกปี ทำให้ในปีนี้วันหยุดยาวดังกล่าวถูกขยายเวลาออกไปเป็น 10 วัน เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมรำลึกถึงรัชสมัยเฮเซที่กำลังจะสิ้นสุดลง และเฉลิมฉลองรัชศกใหม่ที่มาถึงพร้อมกับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่

บรรยากาศโดยทั่วไปของการผลัดแผ่นดินครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีในสายตาของชาวญี่ปุ่น ผิดกับเมื่อ 30 ปีก่อน ในครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ พระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างเศร้าสลดต่อการเสด็จสวรรคตของพระองค์

นอกจากชาวญี่ปุ่นจะเดินทางท่องเที่ยว หรือพักผ่อนหย่อนใจอยู่กับบ้านในช่วงวันหยุดยาวนี้แล้ว พวกเขายังสามารถรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีสละราชสมบัติและพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิได้ทางโทรทัศน์อีกด้วย โดยถือเป็นครั้งแรกที่คนทั่วไปจะได้เห็นพระราชพิธีสละราชสมบัติ และนับเป็นครั้งที่สองที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นทางโทรทัศน์

ราชวงศ์ญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างไร?

ราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นระบอบกษัตริย์ที่มีการสืบสันตติวงศ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก นับย้อนไปได้ถึงยุค 600 ปีก่อนคริสตกาล สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเคยมีฐานะเสมือนเป็นเทพเจ้า แต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ พระองค์ได้ทรงปฏิเสธสถานะประหนึ่งเทพของสถาบันจักรพรรดิ ตามเงื่อนไขการยอมจำนนของญี่ปุ่นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความเสียหายและภาพลักษณ์ที่ด่างพร้อยของญี่ปุ่นหลังสงคราม ทรงขจัดเส้นแบ่งทางประเพณีที่กีดกั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนออกไป อย่างที่สมเด็จพระจักรพรรดิในอดีตของญี่ปุ่นไม่เคยทำมาก่อน โดยทรงมีพระเมตตาและให้ความใกล้ชิดต่อผู้ประสบภัยธรรมชาติและผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง

หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 ปี สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงแหวกม่านประเพณีโบราณอันเคร่งครัด โดยน้อมพระองค์และทรงคุกพระชานุ (เข่า) ลงประทับสนทนากับผู้ประสบภัยภูเขาไฟระเบิดในจังหวัดนางาซากิอย่างไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย ทั้งยังทรงเสด็จเยี่ยมเยือนผู้ป่วยโรคเรื้อนซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคมญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลและภาพ
https://www.bbc.com/thai/international-48101957

ขอบคุณภาพ Getty Images

พื้นที่โฆษณา

บทความล่าสุด

หัวข้อน่าสนใจ

ข่าวทั่วไปจักรพรรดิญี่ปุ่น พร้อมประกอบพิธีสละราชย์ของจักรพรรดิครั้งแรกในรอบ 200 ปีบ่ายวันนี้