วธ.เปิดแถลงข่าวงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” รวมเรื่องราวผ้าโบราณ ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ผ้าไทยร่วมสมัยมาไว้ในที่เดียว โชว์แฟชั่นผ้าไทยจากดีไซเนอร์ชื่อดัง 11-14 ส.ค. 65 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
วันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นายประวิช สุขุม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายบริหารทั่วไป บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ดีไซเนอร์ นักแสดง และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ภายในงานแถลงข่าวเปิดวีดิทัศน์ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” รับชมการแสดงขับร้องประสานเสียงเพลง “สมเด็จฯ” โดยกลุ่มศิลปินนักร้องแชมป์ศาลาเฉลิมกรุง และการแสดงแบบผ้าไทย ชุด “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” โดยรังสรรค์หยิบยกผ้าไทย ลายอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่นแสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดมาออกแบบและตัดเย็บด้วยดีไซน์ที่สวยงามและทันสมัยในฉบับดีไซเนอร์ชื่อดังของประเทศไทย 3 คน ได้แก่ นางพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ (แบรนด์ PICHITA) ผ้าภาคเหนือ นายศิริชัย ทหรานนท์ (แบรนด์ THEATRE) ผ้าภาคกลาง และนายอธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ (แบรนด์ SURFACE) ผ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงยกบูธผ้าไทยโบราณที่หาชมได้ยาก ผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด ผ้าไทยนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม มาจัดแสดงโชว์ เพื่อให้เห็นภาพรวมของงานภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากลฯ ถือเป็นการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับผ้าไทยครั้งใหญ่แห่งปี ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดในวันที่ 11-14 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นายอิทธิพล กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน ประกอบกับ ครม.เห็นชอบให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการและพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ให้ประชาชน ได้ศึกษา เกิดการอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย วธ.จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กระทรวงพาณิชย์ กรมหม่อนไหม กรมการพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามพารากอน และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเกี่ยวกับผ้าไทย ๖ กิจกรรม ได้แก่
๑. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติมายาวนานกว่า ๗ ทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการฟื้นฟู ส่งเสริม พัฒนา เรื่อง “ผ้าไทย” จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และทรงเผยแพร่ความงามและคุณค่าของผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วโลก ในนิทรรศการ “ลายศิลป์แห่งเส้นไหม : มรดกไทยสู่สากล” ๒. นิทรรศการวันผ้าแห่งชาติ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวันผ้าแห่งชาติของประเทศต่างๆ อาทิ สหพันธรัฐมาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสโลวีเนีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และของไทยซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี
๓. นิทรรศการศิลปินแห่งชาติ นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) พุทธศักราช 2564 จัดแสดงผ้าทอผลงานของนายมีชัย แต้สุจริยา ที่หาชมได้ยาก จำลองบรรยายบ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งผลิตผ้าไหมทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่นายมีชัย แต้สุจริยา ได้ก่อตั้งขึ้น ๔. นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 76 จังหวัด จัดแสดงผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัด โดย วธ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ค้นหาลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัด มีทั้งที่เป็นลายโบราณ และลายที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่ของประเทศไทยที่จะมีผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัด และได้จัดทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้ทั้งในแบบรูปเล่ม โดยจะเพิ่มเนื้อหาในเรื่องผ้าโบราณ ศิลปินแห่งชาติ ด้านการทอผ้า และออกแบบแฟชั่น ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ผ้าไทยไว้ได้อย่างครบถ้วน พร้อมจัดทำในรูปแบบ e book ด้วย
๕. นิทรรศการและการแสดงแบบผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค จาก 4 ดีไซเนอร์ชั้นนำ ที่มีผลงานในระดับชาติและนานาชาติ ได้แก่ ๑) พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ (แบรนด์ PICHITA) ผ้าภาคเหนือ ๒) ศิริชัย ทหรานนท์ (แบรนด์ THEATRE) ผ้าภาคกลาง ๓) อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ (แบรนด์ SURFACE) ผ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๔) หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ( แบรนด์ SANTI SUK SPACE) ผ้าภาคใต้ ๖. นิทรรศการและการแสดงแบบผ้าไทยร่วมสมัย ในโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยโครงการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้งนี้ได้เชิญ ดีไซน์เนอร์ชั้นนำมาร่วมออกแบบ อาทิ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ (แบรนด์ T-RA) เอก ทองประเสริฐ (แบรนด์ เอก ทองประเสริฐ์)
นอกจากนิทรรศการ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ๑) การแสดง “จินตลีลาพัสตราภรณ์ : มโนราห์บัลเลต์” ที่เคยจัดขึ้นครั้งแรกจัดตั้งแต่ปี 2505 ในงานกาชาด ณ เวทีสวนอัมพร ที่สืบทอดกันมากว่า 6 ทศวรรษ ซึ่งนับเป็นการแสดงที่หาชมได้ยาก พร้อมกันนี้จะมีการขับร้องดนตรีวงเฉลิมราชย์ และการแสดง “โขน” จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จะเปิดจองบัตรให้ประชาชนทั่วไปได้สำรองที่นั่งได้ที่เว็บไซด์กระทรวงวัฒนธรรม www.m-culture.go.th ๒) การจำหน่ายออกร้านผ้าและผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าจากชุมชน ผู้ประกอบการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และนอกจากนี้ยังมีร้านบริการออกแบบ ตัดเย็บ เสื้อผ้าไทย ไว้ค่อยบริการด้วย ๓) กิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเชิงวัฒนธรรมเพื่อเปิดเวทีให้กับผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบกัน โดยความพิเศษของการเจรจาธุรกิจภายในงานครั้งนี้ ได้จัดให้มีการเจรจาการค้าในรูปแบบ Business Pitching มิติใหม่ของการเจรจาธุรกิจ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ขายได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ซื้อเพื่อให้เกิดการซื้อผลงาน เปรียบเสมือนการขายธุรกิจของตัวเอง สร้างความน่าสนใจ ให้คนอยากรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ ซึ่งการ Pitch ที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมาก โดยเน้นกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ที่มีกำลังซื้อสูง (Buyer Big Lot) และมีความสนใจในผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย
จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ในครั้งนี้ ซึ่งทุกท่านจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริม สนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแก่ชุมชนและประเทศ รวมทั้งการยกระดับผ้าไทยสู่สากล และสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ พลิกฟื้นต่อลมหายใจให้ผ้าไทยอีกครั้ง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนวัฒนธรรม 1765