คนสูงเนินมีเฮ รฟท.ร่วมอนุรักษ์สถานี พร้อมมอบหัวจักรรถไฟเล็กเจ้าสูงเนิน

นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา พร้อมคณะให้การต้อนรับ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง และทางคู่ ณ สถานีรถไฟสูงเนิน พร้อมรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สถานีรถไฟสูงเนิน ได้ร้องขอให้อนุรักษ์อาคารสถานีและเรือนประกอบทั้งหมด ซึ่งได้รับข่าวดีว่า การรถไฟเห็นด้วยที่จะอนุรักษ์ไว้ พร้อมกับมอบหัวจักรรถไฟเล็กเจ้าสูงเนิน มาอยู่ที่สวนรถไฟสูงเนิน

อาจารย์ปริญญา ชูแก้ว กล่าวว่าเมื่อภาคประชาชนสูงเนินเข้มแข็ง ทุกอย่างเป็นไปได้ เพียงแค่ลงมือทำ ผลสำเร็จคือ
1. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำพุทธศักราช 2565 ให้กับ เรือนรักษ์รถไฟสูงเนิน โดยผู้ครอบครองอาคารและสถาปนิกผู้อนุรักษ์อาคารจะเข้ารับพระราชทานรางวัลในวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2567 เวลา 14.30 นาฬิกา ณ วังสระปทุม
2. อาคารสถานีรถไฟสูงเนิน หอเก็บน้ำรถจักร เสาหัวจ่ายน้ำ ร้านบาร์ โรงชั่งน้ำหนักสินค้า อาคารเก็บอุปกรณ์ และบ้านพักรถไฟ จะได้รับการอนุรักษ์ด้วยเทคนิคและวิธีการที่เหมาะสม
3. หัวจักรรถไฟเล็กเจ้าสูงเนินที่ปัจจุบันตั้งอยู่ที่โรงงานมักกะสันจะได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมและถูกนำมาจัดแสดงที่สวนรถไฟสูงเนิน
4. สถานีรถไฟสูงเนินจะเป็นศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมรถไฟไทยที่ครบถ้วนสมบูรณ์
5. สถานีรถไฟสูงเนินทำให้คนไทยเห็นแล้วว่า เมื่อใดที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เห็นคุณค่าความสำคัญและตระหนักรู้ร่วมกัน เมื่อนั้นการอนุรักษ์และพัฒนาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้

ทั้งนี้ อุทยานสถานีรถไฟสูงเนิน มีพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย สถานีรถไฟสูงเนิน ถังเก็บน้ำ บ้านพักพนักงานรถไฟ  ในสมัยแรกเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟหลวงสายแรกของประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีอายุราว  120  ปี
สถานีรถไฟสูงเนิน และเรือนรักษ์รถไฟ ในพื้นที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม โดยมีรูปแบบผสมผสานของสถาปัตยกรรมแบบยุโรปและไทย  ในคุณค่าทางประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีเสด็จประพาสต้น  3  พระองค์ คือ

ในหลวงรัชกาลที่  5  คราวเสด็จเปิดเส้นทางรถไฟหลวงสายแรก คราวเสด็จกลับรถไฟพระที่นั่งหยุดรับน้ำ รับฟืนที่สถานีรถไฟสูงเนิน ชาวสูงเนินจัดกิจกรรมรำถวาย โดยสาวงาม 2 คน คือ น.ส.ปิ่น  และ น.ส.พริ้ง  ผ่านไปราว 1 สัปดาห์  มหาดเล็กในวังก็มารับสาวงามทั้งสอง ไปเป็นหม่อมในวัง ของกรมหมื่นจรัสภรณ์ปฏิภาณ พระโอรสในพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สถานีแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า  เป็น สถานีที่รักษ์   ซึ่งต่อมาท่านมาเที่ยวสูงเนินพร้อมกับหม่อมปิ่น โดยมีหลักฐานที่เป็นจารึก อยู่ที่เสาธรรมจักร วัดพระนอน

สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเสด็จมาที่อำเภอสูงเนิน โดยรถไฟพระที่นั่ง พร้อมกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ มาที่สถานีรถไฟสูงเนิน และขี่ม้าแคระเข้าไปยังบ้านเมืองโบราณที่พระนอน  เมืองเสมา  ปราสาทโนนกู่  เมืองเก่า  และปราสาทเมืองแขก  จนเป็นที่มาของการอนุรักษ์เมืองโบราณของเราชาวสูงเนิน
ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานครั้งแรก พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และรถไฟพระที่นั่งได้หยุดที่สถานีรถไฟสูงเนิน ชาวสูงเนินร่วมเฝ้ารับเสด็จ คุณยายนกแก้ว ถวายเครื่องลายคราม แด่องค์สมเด็จพระราชินี  เรื่องราวเหล่านี้นำมาสู่ความรัก ความภูมิใจของชาวสูงเนิน ที่มีช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง จึงได้ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้  นอกจากนั้น จากการศึกษาประวัติหมู่บ้านของนักเรียนโรงเรียนสูงเนิน ทำให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้ในอดีตนำความเจริญมาสู่ชุมชน และทำให้เกิดการขยายชุมชนไปตามรางรถไฟน้อย ที่มุ่งตรงเข้าไปในป่าเพื่อนำฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถไฟสายหลัก  โดยปัจจุบันมีหลายหมู่บ้านที่มีชื่อสอดคล้องกับเส้นทางรถไฟ เช่น บ้านวังราง  บ้านปลายราง  บ้านหนองหลักพันสโมสรเป็นต้น
ปัจจุบันนอกจากพื้นที่นี้ จะได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกแล้ว  เรือนรักษ์รถไฟสูงเนินทั้งสองหลัง   ยังได้รับการประกาศให้เป็นเรือนที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปีพ.ศ.2565