โควิดโคราช ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง ชุมชนเทศบาลนครฯ ติดเชื้อมากสุดเคสสีเขียวกระจายทั้งพื้นที่ เปิด PCU ตรวจ ATK ฟรีให้กลุ่มเสี่ยง วอนคนเมืองเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สกัดเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย
นครราชสีมา-วันนี้ (8 มีนาคม 2565) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง โดยล่าสุด ศูนย์โควิด 19 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ รายงานว่า วันนี้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 764 ราย จากผลการตรวจ RT-PCR จำนวน 357 ราย และผลตรวจ ATKเป็นบวก จำนวน 407 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 21,594 ราย ซึ่งรักษาหายแล้ว 12,857 ราย ยังรักษาอยู่ 8,685 ราย และเสียชีวิตสะสม 48 ราย
สำหรับผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ แยกเป็นผู้ป่วยเคสสีแดง อาการหนัก จำนวน 62 ราย คิดเป็น 1 % ,ผู้ป่วยเคสสีเหลือง อาการปานกลาง จำนวน 1,020 ราย คิดเป็น 12% และผู้ป่วยเคสสีเขียว อาการไม่มากหรือไม่แสดงอาการ จำนวน 7,603 ราย คิดเป็น 87 % โดยกระจายรักษาอยู่ตามหน่วยบริการต่างๆ ได้แก่ ในโรงพยาบาล จำนวน 1,784 ราย คิดเป็น 21 % ,ใน รพ.สนาม จำนวน 281 ราย คิดเป็น 3 % , ใน CI สถานแยกกักชุมชน จำนวน 1,401 ราย คิดเป็น 16 % และใน HI กักตัวที่บ้าน จำนวน 5,219 ราย คิดเป็น 60 % ซึ่งอำเภอที่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มากสุด ยังคงเป็น อ.เมืองนครราชสีมา และ ต.ในเมือง ก็เป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อมากสุดของเขต อ.เมืองฯ
ซึ่งนายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า เทศบาลนครนคราชสีมา จะตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งขณะนี้ มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในชุมชนเขตเทศบาลนครฯ เกือบทั้งหมด 96 ชุมชน พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 20-25 ราย ส่วนใหญ่อาการไม่หนัก เป็นผู้ป่วยเคสสีเขียว โดยการติดเชื้อกันเองในครอบครัวแบบกระจายทั่วไป ไม่ได้ติดเป็นกลุ่มก้อนคลัสเตอร์ ซึ่งข้อมูลยอดผู้ป่วยติดเชื้อในเขตเทศบาลนครฯ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2565 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,661 ราย เสียชีวิต 12 ราย โดยกระจายเข้ารับการรักษาตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่แบ่งพื้นที่ดูแลตามหน่วยบริการปฐมภูมิ Primary Care Unit หรือ PCR จำนวน 15 หน่วยบริการ ซึ่งยอดผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นเคสสีเขียว เมื่อแพทย์ในหน่วยบริการฯ ตรวจวินิจฉัยอาการแล้ว ก็จะให้ทำ HI กักตัวที่บ้าน โดยทำ HI ปัจจุบันมีอยู่ 58 ราย รวมยอดสะสม 60 ราย และล่าสุดจำหน่ายออกแล้ว 4 ราย ส่วน CI สถานแยกกักของเทศบาลนครฯ ตอนนี้ยังไม่มี รอคณะกรรมการวัดป่าสาลวัน ประชุมพิจารณาในวันที่ 9 มีนาคม 2565 อีกครั้งเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน ถ้าไม่ขัดข้อง เทศบาลนครฯ ก็จะขอจัดตั้ง CI เทศบาลนครฯ ขึ้นในบริเวณวัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม เทศบาลนครฯ ได้เร่งดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคเชิงรุก ด้วยการเปิดบริการตรวจ ATK ฟรีสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในเขตเทศบาลนครฯ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครฯ ทั้ง 5 ศูนย์ ในวันเวลาที่กำหนดไว้ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 โพธิ์กลาง ,ศูนย์บริการสาธารณสุข 2 ทุ่งสว่าง ,ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 สวนพริกไทย , ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 คลินิกชุมชนอบอุ่นการเคหะ และศูนย์บริการสาธารณสุข 5 วัดศาลาทอง ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อที่กักตัวที่บ้าน แบบ HI ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และผู้นำชุมชน โทร.สอบถามติดตามอาการทุกวัน โดยผู้ป่วยจะต้องตรวจวัดค่าออกซิเจนในร่างกาย ตรวจวัดอุณหภูมิรายบุคคล และรายงานสภาพอาการป่วยในแต่ละวันให้ทราบ เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง หากผู้ป่วยเคสสีเขียวรายใดไม่มีสามารถกักตัวเองที่บ้านได้ ก็จะประสานส่งเข้า CI หน่วยบริการปฐมภูมิ PCU 15 แห่งที่สามารถรองรับได้ต่อไป สุดท้าย ต้องขอให้พี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลนครฯ เลี่ยงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เพราะเชื้อโรคได้แพร่กระจายไปทั่วแล้ว ขอให้รักษาระยะห่าง Self Quarantine ให้ตนเอง โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงขอให้กักตัวเองตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปมากขึ้น จนจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงไม่หยุด แล้วส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม .
//////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา