“ดร.ภัทรพล” นายกฯ กุดจิก ต้อนรับพ่อเมืองโคราช สืบสานถนนสายวัฒนธรรม”สงกรานต์สำราญใจ” ประจำปี 2565

ผู้ว่าฯ โคราช ชื่นชมชาวกุดจิก เปิดงานถนนสายวัฒนธรรม ย้อนยุคสงกรานต์สำราญใจ ประจำปี 2565 ได้ยิ่งใหญ่ สะท้อนรากเหง้าวัฒนธรรมการค้าขายของชุมชนริมทางรถไฟ ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร หัตกรรม อาหาร ไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ ความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 65 เวลา 19.30 น. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครราชสีมา เดินทางโดยรถไฟจากสถานีจิระ อ.เมืองนครราชสีมา ไปยังสถานีกุดจิก อ.สูงเนิน พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด และเป็นประธานเปิดงาน “กุดจิกถนนคนเดิน สายวัฒนธรรม สงกรานต์ สำราญใจ” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14 – 15 เม.ย. 65 ณ ถนนเทศบาล 10 ชุมชนตลาดกุดจิก ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.ภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดจิก นายอำเภอไพฑูรย์ มหาชื่นใจ นายอำเภอสูงเนิน คณะส่วนราชการพี่น้องประชาชนชาวกุดจิกให้การต้อนรับจำนวนมาก

ผู้ว่าฯ วิเชียร กล่าวว่ากุดจิกเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาในอดีต ถนนที่เราเห็นมีความเจริญมายาวนาน คนกุดจิกใช้รถไฟนำสินค้าไปขายยังที่ต่างๆ คนกุดจิกเป็นคนเก่งทางด้านการค้าขาย เป็นคนเก่งที่ผลิตอาหารจำหน่ายในที่ต่างๆ วันนี้เราย้อนหลังเห็นรากวัฒนธรรมของกุดจิก เรามีความภาคภูมิใจแทนคนกุดจิกที่มีวัฒนธรรมอันยาวนาน ด้านหัตกรรม ด้านอาหาร

“วันนี้ เรามีความอิ่มใจที่ได้เห็นความพร้อมใจกันจัดให้เราได้ชม เราวาดหวังไว้ว่าในอนาคตเราจะจัดถนนในลักษณะอย่างนี้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง ปีใหม่ สงกรานต์ วันมาฆบูชา เพื่อเป็นช่องทางให้พี่น้องได้ชื่นชมวัฒนธรรมของกุดจิก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของพี่น้องกุดจิก

“วันนี้ ขอชื่นชมยินดีกับนายอำเภอสูงเนิน นายกเทศมนตรีกุดจิก และคณะตลอดจนพี่น้องชาวชุมชนกุดจิก ที่ได้จัดงานสงกรานต์ย้อนยุคครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ พวกเราที่มาประทับใจจริงๆ หวังว่าสิ่งนี้จะช่วยกันรักษาไปถึงลูกหลาน พวกเรามีความสุขมากจริงๆ ขออวยพรให้การจัดงานบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ ขอให้พี่น้องที่มาเที่ยวชมงานในครั้งนี้ มีความสุข ความเจริญ ในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี2565” ผู้ว่าฯ วิเชียร กล่าว

ด้าน ดร.ภัทรพล กล่าวว่างาน “กุดจิกถนนคนเดิน สายวัฒนธรรม” ตอนสงกรานต์ สำราญใจ” เป็นงานของพี่น้องชาวอำเภอสูงเนินบ้านกุดจิก ที่บ่งบอกตัวตนของกุดจิกว่ามีความเป็นมาอย่างไร รากเหง้าวัฒนธรรมของคนริมทางรถไฟ การทำมาค้าขาย เศรษฐกิจของกุดจิก เรามีไฮไลท์หลายๆ ตัว อาทิ เรื่องรถไฟที่กำลังจะถูกย้าย นิทรรศการภาพถ่าย ร.4 ร.6 เป็นฟิล์มกระจก ที่จะบ่งบอกว่าเมืองกุดจิกมีความผูกพันกับรถไฟอย่างไร มีการประกวดหนูน้อยวัฒนธรรม ประกวดนางสงกรานต์ ประกวดคั่วหมี่ ประกวดลีลาส้มตำ เป็นสร้างกิจกรรมสนุกสนาน สร้างความสามัคคี เป็นการแสดงถึงงานบ้านกุดจิกที่มีหมี่โคราชเป็นตัวชูโรง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการสรงน้ำพระพุทธรูปอายุร้อยกว่าปี พบกับจุดเช็คอินตลาดย้อนยุค “กุดจิกวันวาน” ของเก่าของสะสมที่หาดูหาชมได้ยาก อาทิ วิทยุสมัยสงครามโลก ที่บดยาโบราณ ร้านทำทองสมัยโบราณ 2 ร้าน มีลิเก โรงหนัง อาหารและขนมพื้นบ้านหลากหลาย

ที่สำคัญ การจัดงานครั้งนี้ กุดจิกได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการท้องถิ่นท้องให้การสนับสนุน ขอบคุณท่านนายอำเภอสูงเนิน พี่น้องชาวกุดจิก ร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกัน

“วันนี้เราประกวดหนูน้อยวัฒนธรรม ท่านผู้ว่าฯ วิเชียร ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล ชาวกุดจิกรู้สึกซาบซึ้งและขอขอบคุณอย่างสูง ในวันที่สองมีการประกวดส้มตำลีลา ประกวดนางสงกรานต์ ที่สร้างสีสันความสนุกสนานในงานสงกรานต์ปีนี้”นายกฯ ภัทรพล กล่าวและย้ำว่า

“วันนี้วันครอบครัวขอให้ทุกท่านจงมีความสุขกับครอบครัวของท่าน สร้างครอบครัวให้ดีมีพลังบวกกับครอบครัวที่จะสร้างเรื่องดีๆให้กับบ้านของเราและห่างไกลจากโควิดด้วยกัน”

สำหรับบรรยากาศภายในงานมีการแต่งกายย้อนยุคนุ่งผ้าไทยกันอย่างสวยงาม มีสาธิตการทำหมี่โคราชแบบโบราณ มีคั่วหมี่ ยำหมี ทอดมัน และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้สร้างทางรถไฟสายแรกขึ้นในสยามประเทศ คือเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา เพื่อให้การติดต่อกับหัวเมืองทางภาคอีสานได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถมาถ่ายรูปและระลึกความทรงจำกัน มาเช็คอินช่วยกันประชาสัมพันธ์ไทยเที่ยวไทย วิถีชุมชนคนกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

งานครั้งนี้ถือเป็นการอำลาสถานีรถไฟกุดจิก ต้องรื้อย้ายหลีกทางให้รถไฟความเร็วสูง หลังจากรับใช้คนกุดจิกและใกล้เคียงมากนานกว่า ร้อยกว่าปี งานถนนคนเดิน จัดเป็นที่ระลึกครั้งสุดท้ายของสถานีรถไฟ ประวัติศาสตร์ที่รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นคราวประพาสมณฑลนครราชสีมา รศ.122 (พ.ศ.2446)