แห่เทียนโคราช จัดใหญ่ สุดปัง เทวัญ ชวน ร่วมชมแห่เทียน สาดแสงแห่งจินตนาการ 2566

วันที่ 1 สิงหาคม 2566 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในโอกาสมาร่วมทําบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ คนไทยถือว่าเป็นวันพระใหญ่ และเป็นวันสําคัญทางพุทธศาสนาที่พวกเราจะต้องถือศีล อดเหล้าเข้าพรรษา เป็นระยะเวลาประมาณสามเดือนอยู่ในช่วงนี้ และในโอกาสนี้ ทางเทศบาลนครราชสีมาได้จัดงาน “แสงเทียนแห่งศรัทธา แห่เทียนพรรษาเมืองโคราช” ยิ่งใหญ่มากมีขบวนแห่งเทียนแต่ละอำเภอ จำนวน 12 วัด 12 ขบวน ในการเข้าประกวด
ต้นเทียนชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาฯ และภายในงานยังมีกิจกรรมการแสดงสุดยิ่งใหญ่แสง สี เสียง “โขนดนตรีออเคสตร้าประกอบต้นเทียน” เพื่อร่วมสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวไทยที่เคยถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมายาวนาน โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทยอยเดินทางมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมากจนเต็มพื้นที่จัดงานตลอดเส้นทางสร้างบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการปิดถนนมีพี่น้องประชาชนหลั่งไหลมาเป็นเรือนหมื่น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทําให้เป็น soft power สําคัญของเมืองโคราช เป็นเอกลักษณ์ เป็นธรรมเนียมประเพณีของชาวโคราชทุกๆ ปีเราจะมีงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ไม่น้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ

ฉะนั้น อยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวโคราชมาต้อนรับเพื่อนบ้านไม่ว่าจากจังหวัดไหนที่จะมาเที่ยวที่โคราช โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นวันหยุดยาว 6 วัน พี่น้องประชาชนมาให้ความสนใจมากคุณย่าโม มากราบพระขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะงานแห่เทียนเข้าพรรษาโคราช เริ่มตั้งวันที่ 1-4 สิงหาคมนี้ อยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงาน มาร่วมทําบุญกันเพราะว่าโคราชเราเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา

“วันนี้ก็ได้ไปอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากวัดพระนารายณ์ มาประดิษฐานอยู่ ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ให้พี่น้องประชาชนได้เคารพสักการะบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสวันเข้าพรรษา”นายเทวัญ กล่าว

สำหรับวันพุธที่ 2 สิงหาคม 66 เริ่มเวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ชมไฮไลท์ขบวน “แห่เทียนโคราช” เริ่มจากหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) การประกวดต้นเทียนพรรษา ประเภท ก และประเภท ข, การประกวดขบวนแห่ มีการจัดขบวนเทิดพระเกียรติ อัญเชิญถ้วยรางวัลพระราชทาน จำนวน 5 ขบวน ประกอบด้วย ขบวน “แสงสว่างกลางใจประชา” (ขบวนนำ), ขบวน “แสงเทียนแห่งศรัทธา”, ขบวน “แสงเทียนแห่งอารยชน” , ขบวน แสงเทียนแห่งบรรพชีวิน และขบวน “แสงสว่างแห่งเสรี”, การแสดงแสง สี เสียง การแสดงโขน การแสดงดนตรีออเคสตร้าประกอบต้นเทียน, การแสดงดนตรี การแสดงศิลปวัฒนธรรม, การสาธิตการแกะเทียน การพิมพ์เทียน การให้ความรู้ทางศิลปะ การหล่อเทียนที่ประชาชนได้มีส่วนร่วม โดยเส้นทางขบวนแห่เทียน 12 วัด เริ่มออกจากจุดปล่อยขบวนเทียน หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถนนราชดำเนิน – ถ.อัษฏาง – ถ.ประจักษ์ – ถ.จอมพล – ถ.ชุมพล – ถ.จอมสุรางค์ยาตร – ถ.โยธา – ถ.สุรนารี