อดีตผู้ว่าฯ โคราช ชี้แจงกรณี #Saveทับลาน แนะประชาชนอย่าหลงกระแส ชี้การเพิกถอนพื้นที่ 265,286 ไร่ ทำตามกฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาเขตทับซ้อน ยกพระบรมราโชวาท ร.9 “การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน”

นครราชสีมา – จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 12 ก.ค. 2567 ฝั่ง จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี โดยจะต้องปรับปรุงแนวเขตใหม่ที่ต้องเสียพื้นที่เดิมที่มีอยู่ไปกว่า 265,000 ไร่ ทำให้เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างบนโลกออนไลน์ และกลายเป็นกระแสทำให้ #Saevทับลาน ติดแฮชแทกอันดับหนึ่งนั้น

ล่าสุด วันนี้ (12 กรกฎาคม 2567) นายธงชัย ลืออดุลย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนเองขอให้ประชาชนทั่วประเทศว่าอย่าไปหลงกระแส “#Save ทับลาน” โดยที่ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะเรื่องการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2562 มาตรา 8 วรรค 3 ต้องการแก้ข้อบกพร่องของกฎหมายอุทยาน ปี 2504 ที่ตอนนั้นจะแบ่งเขตอย่างไรก็ได้ ทำให้มีการกำหนดเขตบนแผนที่ทางอากาศ โดยที่ไม่มีการลงพื้นที่สำรวจจริง จนเกิดปัญหาประกาศแนวเขตพื้นที่อุทยานทับซ้อนที่อยู่ของชาวบ้านจำนวนมากในขณะนี้ ส่วนจะมาอ้างว่าชาวบ้านที่เข้าไปอยู่นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตนก็ต้องขอยืนยันว่า กองทัพภาคที่ 2 เป็นหน่วยงานที่นำชาวบ้านเข้าไปอยู่บริเวณนั้น ตามนโยบายด้านความมั่นคงเรื่องคอมมิวนิสต์ เมื่อมีหน่วยงานรัฐนำเขาไปอยู่เอง แล้วจะให้ชาวบ้านคิดว่าอย่างไร จะมาบอกว่าชาวบ้านเข้าไปอยู่โดยไม่ชอบได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องยกเลิก พรบ.อุทยานแห่งชาติปี 2504 เพื่อให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมในการกำหนดเขตอุทยานใหม่ให้ถูกต้อง แต่ขณะนี้มีข้าราชการระดับซี 9 ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ออกมาให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และส่งผลให้มีแคมเปญ “#Save ทับลาน” ขึ้นมา ทั้งที่บรรพบุรุษในกระทรวงคุณเองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข่ายผิด ม.157 ไม่ยอมมาสำรวจรังวัด ไม่มีการมาปักหลักแนวเขต แม้แต่เจ้าหน้าที่ในกรมอุทยานฯ ก็ยังลงนามในหนังสือ ยอมรับว่าไม่รู้ว่าแนวเขตของตนเองอยู่ตรงไหนกันแน่ ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ตนมองว่ากรมอุทยานฯ ได้ทำตามเจตนารมณ์ของ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 หรือไม่ เนื่องจากมีการเสนอคำถามนำ เสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ ปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งระดับชาติไปแล้ว ตอนนี้คุณทำให้คน 4 อำเภอ คือ วังน้ำเขียว ครบุรี เสิงสาง และปักธงชัย กลายเป็นชาวบางระจันที่ต้องต่อสู้กับพม่าแล้ว

ส่วนคำถามที่ว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นหรือไม่นั้น ตนมองว่าถ้าที่อื่นเป็นเช่นนี้ก็ต้องคืนสิทธิ์ให้พวกเขา ไม่ต้องไปกังวลว่าชาวเขาที่อยู่มาเป็นร้อยปี แล้วจะต้องไปบอนไซเขาไม่ให้เติบโต อย่าไปทำให้เขาตาย ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นมติ 2 ครม. แล้ว โดยมติ ครม.ครั้งแรก วันที่ 22 เม.ย.40 ตั้งแต่สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นตนเองเป็นนายอำเภอวังน้ำเขียวอยู่ สอดคล้องกับมติ ครม.ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 ดังนั้นตนเองไม่เชื่อว่ามติ ครม.ทั้ง 2 ครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะหน่อมแน้ม แล้วคุณจะพยายามให้มีคณะกรรมการใดมาเหนือกว่ามติ ครม.ได้อีกหรือ ไม่มีใครเขาทำหรอกในโลกใบนี้ เพราะการเป็นประเทศตามหลักสากลแล้ว 1.ต้องมีประชากร ซึ่งประชากรสำคัญที่สุด 2.ต้องมีแผ่นดิน ถ้าไม่มีแผ่นดินประชาชนจะไปอยู่ไหน 3.ต้องมีอธิปไตยเหนือแผ่นดิน ที่คุณทำตอนนี้คุณจะเอาแต่แผ่นดินโดยที่ไม่ต้องมีประชากรได้หรือ คุณจะต้องการถือครองแผ่นดินอยู่คนเดียวหรือ แล้วที่ออกมาพูดสวยหรูว่าจะทำป่าเศรษฐกิจกับป่าอนุรักษ์ให้ได้ 40% ต่อให้ทำ 100 ปีก็ไม่สำเร็จ เพราะเดี๋ยวไฟป่าก็เข้ามา คุณมีปัญญาจะไปดับไฟป่าหรือ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ช่วย ตอนนี้บ้านเมืองเขาไปถึงไหนแล้ว เขาบอกให้กระจายอำนาจ ก็อยากจะกุมอำนาจอยู่คนเดียว เพื่อให้กลายเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ งบประมาณมาก อัตรากำลังมาก มีตำแหน่งมากมาย เก็บค่าตั๋วได้มาก เช่นนี้หรือ มันหมดเวลาแล้ว ปล่อยให้ท้องถิ่นเขาเก็บค่าตั๋วมาพัฒนาพื้นที่จะดีกว่า ถ้าทำอย่างนี้ตนมั่นใจว่าจะมีประชาชนมาช่วยรักษาป่ามากมายแน่นอน

ส่วนกรณีที่หากคัดค้านการแบ่งเขตอุทยานฯ ไม่สำเร็จ ผู้คัดค้านจะมีการถวายฎีกานั้น ตนอยากยกพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งท่านตรัสไว้เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 15 ซึ่งตรัสไว้ก่อนที่จะมีกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 24 ถึง 9 ปี โดยมีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า “เราจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวน แล้วเพิ่งไปสงวนทีหลังโดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้น ที่เมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ป่าฝืน กฎหมายไป ถ้าดูในทางกฎหมายเขาก็ฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิ์ในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง ข้อนี้ก็เป็นปัญหาละเกิดวุ่นวายมาหลายครั้ง เมื่อได้ดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกในป่าสงวน และข้อนี้ก็เคยพูดมาแล้ว อาจฉงนว่า ทำไมมาพูดกันอีก” ซึ่งพระบรมราโชวาทนี้ ผู้ที่เป็นข้าราชการทุกคน โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีเครื่องราชสายสะพายแล้ว ควรที่จะน้ำเกล้าน้อมกระหม่อมนำมาปฏิบัติตาม แต่ปี 24 กลับไม่ปฏิบัติตาม ไปขีดเส้นเขตอุทยาน ประกาศทับบ้านเรือนประชาชนที่มาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ยังกล้าที่จะไปยื่นถวายฏีกาอีกหรือ

ดังนั้นตนเองขอเสนอให้มีการแกปัญหาบนพื้นฐานความเป็นจริง ความชอบธรรม ความเสมอภาค ความเป็นสิทธิมนุษยชน และระเบียบข้อกฎหมายที่มีอยู่ โดยให้รู้ว่าอำนาจหน้าที่ของตนเองมีแค่ไหน อย่าทำเกินหน้าที่ ถ้าข้าราชการอยากเป็น ครม. แบบนี้ก็ยุ่งกันไปหมด เพราะข้าราชการมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติ ครม. ในเมื่อมีมติ ครม.ออกมาถึง 2 ครั้งแล้ว ข้าราชการก็ควรจะปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง โดยการคืนพื้นที่ให้ประชาชนเขาไปเสีย ทำให้ถูกต้องตามความเป็นจริง อะไรที่เคยทำผิดพลาดไปแล้ว ตนเชื่อว่าประชาชนเขาไม่ติดใจเอาความหรอก เขาพร้อมให้อภัย เพราะตั้งแต่มีการกำหนดเขตอุทยานปี 43 เป็นต้นมา ประชาชนเขาไม่มีใครข้ามเขตนั้นเลย เนื่องจากมีการลงพื้นที่สำรวจจริง มีประชาชนเป็นส่วนร่วม มีคณะกรรมการหลายคณะดำเนินการอย่างถูกต้อง จึงทำให้ประชาชนเข้าใจ ถ้าปี 24 ทำแบบนี้ ก็คงจะไม่มีปัญหาตั้งแต่แรกแล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้ทำอย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบันนี้.

/////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา