หมดหวังการแก้ไขปัญหา ชาวบัวใหญ่โอดปัญหาทางลอดรถไฟยังไม่แก้ไขหลังใกล้หมดสัญญาก่อสร้าง ไฟส่องสว่างยังพังชำรุดห้อยร่องแร่งน้ำยังท่วมขัง ต้องเสี่ยงชีวิตเดินข้ามทางรถไฟเอาเอง

นครราชสีมา – วันนี้ (14 กรกฎาคม 2564) ชาวบัวใหญ่โอดปัญหาทางลอดรถไฟใกล้หมดสัญญารับประกันการก่อสร้าง ไฟส่องสว่างยังพังชำรุดสายไฟห้อยร่องแร่งจะช็อตผู้สัญจรผ่านวันไหนก็ไม่รู้ ต้องแก้ปัญหากันเอาเองโดยการเสี่ยงชีวิตมุดรั้วเดินตัดทางรถไฟดีกว่าลงไปใช้ทางลอดที่แสนจะคับแคบและไม่มีทางเดินเท้า

ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องร้องเรียนถึงความยากลำบากในการใช้เส้นทางสัญจรผ่านอุโมงค์ทางลอดใต้รางรถไฟในโครงการรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น โดยเฉพาะช่วงถนนทางหลวงหมายเลข 202 ตัดเข้าโรงพยาบาลบัวใหญ่ ซึ่งทางลอดบริเวณดังกล่าวใช้สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ รถจักรยานและคนเดินเท้า ใช้ลอดผ่านทดแทนทางข้ามเดิมในระดับผิวรางรถไฟ ที่ผ่านมาเคยมีเรื่องร้องเรียนเป็นระยะแทบจะตลอดเวลา ทั้งสภาพทางลอดที่คับแคบ ไม่มีฟุตบาทสำหรับคนเดินเท้า มีน้ำท่วมขัง ไฟส่องสว่างชำรุดเสียหาย แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ถึงแม้สัญญารับประกันงานก่อสร้างจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นี้แล้วก็ตาม

หลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณทางลอดพบว่ายังคงมีน้ำซึมอยู่ที่ผิวการจราจรแทบตลอดเวลาถึงแม้ในพื้นที่ไม่มีฝนตกลงมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว ส่วนไฟส่องสว่างก็ชำรุดเสียหายโคมไฟและสายไฟห้อยร่องแร่ง หวั่นว่าอาจจะเกิดอันตรายกับผู้ที่สัญจรผ่านถ้าเกิดมีปริมาณน้ำท่วมสูงจนถึงสายไฟ ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยว่า ตนเองใช้จักรยานขี่เข้าตลาดในทุกวัน จะต้องใช้การแบกจักรยานมุดรั้วกั้นข้ามรางรถไฟเอาเอง เนื่องจากไม่สามารถลงไปใช้ทางลอดได้ เพราะคับแคบและอันตรายมากกว่า รวมถึงมีความสูงชันตนเองคงไม่มีเรียวแรงในการขี่จักรยานขึ้นทางชันขนาดนั้นได้ จึงมาตัดทางรถไฟแบบนี้ยังจะดีกว่า

ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่โครงการรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ได้เปิดใช้บริการได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับการขนส่งและเดินทางโดยสารในระบบรางมากยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลกระทบเกิดความยากลำบากกับการเดินทางสัญจรของประชาชนที่ต้องผ่านเส้นทางรถไฟเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับทางลอดในระดับใต้ผิวรางรถไฟ ที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีความสูงชันเกินมาตรฐานทางหลวงทั่วไป เคยมีการร้องเรียนขอให้ทำการแก้ไขแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับการแก้ไขปัญหาใด ๆ จากทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังจากหมดสัญญารับประกันงานการก่อสร้างโครงการ การรถไฟฯจะประชุมหารือ ส่งมอบให้หน่วยงานต่าง ๆรับผิดชอบ เช่น กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท เทศบาลและหน่วยงานท้องถิ่นดูแลต่อ ซึ่งหลายหน่วยงานก็ปฏิเสธไม่ขอรับเผือกร้อนที่การรถไฟฯจะผลักภาระมาให้ดูแลแก้ไขต่อ.

///////////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ//นครราชสีมา