นายกเล็ก ขอขมาหลุมศพมนุษย์โบราณโนนพลล้าน เตรียมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองด้านตะวันออก ถนนอัษฎางค์ตัดถนนพลล้าน เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายก ทน.นครราชสีมา พร้อมกลุ่มนักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา และบุคลากรที่เกี่ยวข้องร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับโครงกระดูกมนุษย์ในวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งขุดพบเพิ่มเติมจำนวน 11 โครง โดยมีพระภิกษุสงฆ์ 4 รูป ประกอบพิธีทางศาสนา จากนั้นได้ดำเนินเก็บกู้โครงกระดูกมนุษย์และโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งตามหลักวิชาการ

นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมกลุ่มนักโบราณคดีได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการศึกษาร่องรอยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับการขุดค้นพบโครงกระดูกและเครื่องปั้นดินเผาของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยเริ่มขุดในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาและเปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เข้าชมขั้นตอนการทำงานของนักโบราณคดีอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบรรยายให้ความรู้และเปิดให้ซักถามข้อสงสัย

นายวรรณพงษ์เปิดเผยว่า ขนาดหลุมขุด กว้าง 3 เมตร ยาว 15 เมตร ความลึก 1.2 เมตร ระดับความลึก 100-180 เซนติเมตรจากผิวดิน พบการฝังศพร่างมนุษย์ลักษณะนอนหงายเหยียดยาว 6 โครง ถูกฝังร่วมกับของอุทิศ มีความพิเศษอยู่ที่โครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 1 ฝังภาชนะดินเผาแบบพิมายดำสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานต่อเนื่องเป็นแหล่งฝังศพของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็กมีอายุสมัยอยู่ในช่วง 2,400-1,500 ปี และระดับความลึก 180 เซนติเมตรจากผิวดิน พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังร่วมกับของอุทิศ อาทิ ภาชนะดินเผาแบบบ้านปราสาท หันศีรษะไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ นอกจากนี้พบแผ่นทองคำขนาด 0.1 x 0.01 มม. สะท้อนให้เห็นการใช้พื้นที่ฝังศพต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสำริด หรือราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว นับเป็นการค้นพบใหม่ของพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา จากเดิมพบร่องรอยมนุษย์อายุ 2,400 ปี

นายวรรณพงษ์กล่าวว่า การพบร่องรอยการฝังศพของมนุษย์ร่วมกับหม้อดินเผาแบบบ้านปราสาท รูปทรงคนโทปากแตรมีเชิง ทาน้ำดินสีแดงถูกยกให้เป็นรูปแบบเด่นของภาชนะดินเผา สมัยสำริดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วง 3,000-2,500 ปีมาแล้ว ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ 3 โครง หันศีรษะไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณเหนือศีรษะและปลายเท้าพบภาชนะดินเผาแบบบ้านปราสาทฝังร่วมเหมือนกันทั้งหมด สำหรับโครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 8 สวมกำไลหินอ่อนที่แขนข้างขวาและโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 9 สวมกำไลหอยมือเสือที่แขนข้างขวา ทั้ง 2 โครง ถูกฝังในแนวขนานกัน นักวิชาการตั้งข้อสงสัยถูกฝังพร้อมกันหรือไม่ ความพิเศษของการฝังศพสมัยสำริดคือโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 7 ลำตัวอยู่ในลักษณะตะแคงซ้าย แขนข้างซ้ายและข้างขวาอยู่ในลักษณะประสานมือเหนือกระดูกเชิงกราน ขาข้างซ้ายเหยียดตรง ขาข้างขวายกงอตั้งขึ้นและยังคงรูปแบบการฝังภาชนะดินเผาเหนือศีรษะและปลายเท้าร่วมด้วย

ทั้งนี้การขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน แสดงให้เห็นบริเวณพื้นที่เมืองนครราชสีมาเป็นชุมชนของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชนอื่นๆ ใกล้เคียง สะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องของการใช้พื้นที่เป็นแหล่งฝังศพมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสำริด 3,000-2,500 ปีมาแล้ว และโครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 7, 8, 9, 10 และ 11 ต่อเนื่องถึงสมัยเหล็ก 2,400-1,500 ปีมาแล้ว โครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ถือเป็นการค้นพบวัฒนธรรมสำริดในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมาเป็นครั้งแรก หลักฐานบ่งชี้คือภาชนะดินเผาแบบปากแตรทาน้ำดินสีแดงซึ่งแต่เดิมจะพบภาชนะลักษณะนี้ในแหล่งโบราณคดี สมัยสำริดที่สำคัญๆ อย่างเช่น แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทและวรรณคดีบ้านโนนวัดในพื้นที่ของอำเภอโนนสูง จ.นครราชสีมา

นายวรรณพงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาแหล่งวรรณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อนึกถึงแหล่งที่สำคัญๆ เช่นแหล่งวรรณคดีบ้านโนนวัด หรือแหล่งวรรณคดีโนนบ้านจาก เป็นผลงานของของชาวต่างชาติ แต่แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน กรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ล้วนเป็นคนไทยและดำเนินการเองตลอดการทำงานในปีงบประมาณนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ ต้องรอผลการกำหนดอายุสมัยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ หลังสิ้นสุดการขุดค้นจะรีบนำส่งตัวอย่างต่อไป

นายประเสริฐ นายก ทน.นครราชสีมา กล่าวว่า การขุดค้นพบครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีมูลค่าและมีคุณค่าต่อโคราชและประเทศไทย ทน.นครราชสีมา มีโครงการพัฒนาปรับปรุงคูเมืองทั้ง 17 แห่ง หลังดำเนินการพื้นที่คูเมืองที่ 12 หรือคูเมืองบูรพารวมพลด้านทิศตะวันออกของเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองเก่าและแหล่งโบราณสถานโบราณวัตถุ ก่อนการพัฒนาพื้นที่ต้องมีการขุดค้นพิสูจน์แหล่งโบราณคดีตามขั้นตอน จึงค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณพร้อมเครื่องอุทิศจำนวนมาก ถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินแห่งนี้ ถือเป็นเรื่องที่พิเศษและมีความสำคัญต่อข้อมูลประวัติศาสตร์ของชาวโคราชในอดีตกาล

ทน.นครราชสีมามีแผนจัดทำ side museum โดยผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากกรมศิลปากรและสถาปนิกร่วมกันออกแบบ จำลองหลักฐานทางโบราณคดีจากของจริงให้เป็นพื้นที่จัดแสดงแหล่งเรียนรู้ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เมืองโคราชให้กับนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีการถอดบทเรียนข้อบกพร่องเกี่ยวกับการจัดทำพื้นที่จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีให้มีความสวยงามและความปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง

คูเมืองด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ที่สำคัญมากในเชิงโบราณคดีประวัติศาสตร์และในเชิงของการท่องเที่ยว ในอนาคตมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาในเรื่องของโบราณคดี วางแผนสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองโคราชขนาดใหญ่ เบื้องต้นได้ขอใช้พื้นที่ 40 ไร่ ที่ตั้งของเรือนจำกลางนครราชสีมา เพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์เมืองและลานคนเมืองขนาดใหญ่ด้านฝั่งตะวันออก อยู่ระหว่างประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ กรมธนารักษ์ เพื่อขอใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ไร่ บริเวณ ต.ไชยมงคล อ.เมือง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ใช้สอยของกองทัพบก เพื่อย้ายเรือนจำ คาดใช้เวลานานพอสมควร อย่างไรก็ตามเรามีแผนพัฒนาคูเมืองอีกหลายจุด อาจจะพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากอย่างแน่นอน