มทส. เปิดตัว “สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แบบโซล่าร์ออฟกริด” ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ติดตั้งง่าย เหมาะกับท้องถิ่นห่างไกล

 นครราชสีมา – วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่อาคารวิชาการ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานในพิธีเปิด “สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แบบโซล่าร์ออฟกริด (Solar-off-grid charging station for mini EVs)” สถานีต้นแบบ เพื่อให้บริการชาร์จไฟฟ้าแก่ยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่ใช้สัญจรภายในมหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวัสดุนาโนและการวิเคราะห์ขั้นสูง (RNN-SUT) รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าคณะนักวิจัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ นักวิจัย ร่วมให้การต้อนรับ โอกาสนี้ ได้ส่งมอบจักรยานไฟฟ้า จำนวน 20 คัน ผลงานบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับ ส่วนอาคารสถานที่ มทส. ซึ่งได้รับการสนับสนุนมอเตอร์ไฟฟ้าจากบริษัท Stallions เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยตอบรับนโยบาย มทส. มหาวิทยาลัยเขียว-สะอาดอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า “สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แบบโซล่าร์ออฟกริด  หรือ Solar-off-grid charging station for mini EVs เป็นสถานีต้นแบบ ได้ทำการออกแบบและติดตั้งไว้บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารวิชาการ 2 สามารถให้บริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก รถกอล์ฟไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานไฟฟ้า เป็นต้น จุดเด่นของสถานีชาร์จแห่งนี้ คือ เป็นสถานีชาร์จแบบโซล่าร์ออฟกริด (Solar-off-grid) ทำให้ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด และการออกแบบรูปลักษณ์สถานีขนาดเล็กเหมาะกับพื้นที่จำกัด จึงสามารถทำการติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในสถานที่ทุรกันดาร หรือมีระยะทางห่างไกลที่ระบบไฟฟ้าภาครัฐเข้าไปยังไม่ทั่วถึง หลักการทำงานคือ การใช้พลังไฟฟ้ามาจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานขั้นสูงโดยทำการออกแบบให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน กำลังการผลิตไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์อยู่ที่ 4 กิโลวัตต์ (kW) ผลิตพลังงานได้ประมาณ 16 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ต่อวัน หรือสามารถนำไปชาร์จรถกอล์ฟหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมกันได้ 8-10 คันต่อวัน สำหรับระบบกักเก็บพลังงานมีขนาดความจุ 5 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประมาณ 25% ไปใช้ในเวลากลางคืน หรือช่วงที่มีแสงแดดน้อย ยังสร้างความเสถียรในการชาร์จไฟฟ้าได้อีกด้วย  สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แบบโซล่าร์ออฟกริด ต้นแบบของ มทส. นี้ ได้ออกแบบตัวสถานีชาร์จขนาด 2 X 3 เมตร ใช้พื้นที่โดยรวมประมาณ 24 ตารางเมตร หลังคาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์จำนวน 12 แผง สามารถรองรับรถกอล์ฟเข้าจอดได้ 2 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานไฟฟ้ารวมกันได้ 5 คัน

โดยในระยะแรกสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจะเปิดให้บริการแก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ในพื้นที่ มทส. ควบคู่กับการติดตามและประเมินผลการใช้งาน ผลงานวิจัยนี้ ศูนย์เครือข่ายวัสดุนาโนและการวิเคราะห์ขั้นสูง (RNN-SUT) มทส. ได้รับทุนวิจัยจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (Nanotec) และ มทส. ในการวิจัยระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ EQ Tech Energy คาดว่าในอนาคตพร้อมที่จะขยายผลบริการวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานที่สนใจร่วมใช้พลังงานสะอาดเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป”.

////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา