นักวิจัย มทส.โคราช เจ๋ง คิดค้นซีเมนต์ทดแทนกระดูกได้เป็นผลสำเร็จ ราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ 50% พร้อมจับมือเอกชนพัฒนาต่อยอดใช้ในด้านทันกรรมเชิงพาณิชย์

นครราชสีมา วันนี้ (9 มีนาคม 2563) ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในเทคโนโลยี ซีเมนต์เพื่อการทดแทนและฟื้นฟูกระดูก ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับบริษัทคุณค่าป่าไทย จำกัด โดยมี รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี, ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและวิสาหกิจ, รศ.ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ นักวิจัย และทันตแพทย์หญิงดวงฤดี วงศ์เทียมชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทคุณค่าป่าไทย จำกัด เพื่อเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้านงานทัตนกรรม ให้สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ทดแทนและซ่อมแซมกระดูกของผู้ป่วยที่มีการสูญเสียเนื้อกระดูกเชิงพาณิชย์ในอนาคต

รศ.ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ นักวิจัยสาขาวิศวกรรมเซรามิค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า ด้วยความที่ตนเองเป็นนักวิจัยด้านเซรามิค จึงมีแนวความคิดว่าเซรามิคสามารถนำมาใช้อะไรได้บ้าง นอกเหนือจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ทำการศึกษาวิจัยการทำวัสดุที่จะสามารถนำมาใช้แทนกระดูกได้ ซึ่งกระดูกทั่วไปจะมีส่วนผสมของแคลเซี่ยมฟอสเฟต ที่เป็นกลุ่มหนึ่งของเซรามิค ถ้าได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้สามารถใช้ทดแทนกระดูกได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนำไปใช้กับทันตกรรม ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสูงขึ้นต่อเนื่อง และวัสดุเด็นทอลซีเมนต์ขณะนี้ก็มีอยู่เจ้าเดียวที่ผลิต ซึ่งมีราคาสูงมาก ขนาด 1 ซีซี มีราคาสูงถึง 5,000 บาท แต่วัสดุที่วิจัยได้ครั้งนี้มีราคาถูกกว่า 50% จึงได้ยื่นขอทุนในการทำวิจัยจากรัฐบาล และทดลองในสัตว์ จนได้ผลสำเร็จและทำการจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยนี้ตามกฎหมาย แต่การจะนำไปทดลองกับมนุษย์นั้นต้องได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม วันนี้จึงได้มีการลงนามความร่วมมือกับบริษัทคุณค่าป่าไทย จำกัด เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ด้านทันตแพทย์หญิงดวงฤดี วงศ์เทียมชัย กรรมการบริษัทคุณค่าป่าไทย จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ประชาชนเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมมากขึ้น เนื่องจากมีจำนวนทันแพทย์มากขึ้นกระจายอยู่เกือบทุกพื้นที่ ประกอบกับปัจจุบันเราเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพราะคนมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้ปัญหาด้านทันกรรมก็เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่การรักษารากฟันเทียม และกระดูกขากรรไกรนั้น มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะต้องใช้กระดูกเทียมชนิดเม็ดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ป่วยด้านทันกรรมไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่กระดูกซีเมนต์จากผลงานวิจัยนี้สามารถใช้ทดแทนได้โดยไม่ต้องใช้แผ่นเยื่อหรือเมมเบลน ซึ่งสามารถสร้างรูปทรงแนวสูงรับกับฟันได้เป็นอย่างดี แต่การสร้างกระดูกขากรรไกรนั้น มีความละเอียดอ่อนมากกว่ากระดูกทั่วไป เพราะมีฟันงอกขึ้นมา ที่จะต้องมีช่องระหว่างซอกฟันกับกระดูกและฟันจะต้องสามารถขยับได้เล็กน้อยด้วย ส่วนกระดูกทั่วไปจะมีเนื้อเยื่อปิดสนิท จึงเป็นความยากและท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้นทางบริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อช่วยกันพัฒนาให้สามารถนำไปใช้รักษาด้านทันกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.

//////////////