ลำน้ำมาศล้นตลิ่งท่วมพื้นที่อำเภอห้วยแถลงเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลพายุโนรู โรงเรียนท่วมหนักสุดในรอบ 63 ปี ระดับน้ำกว่า 2 เมตร

 

นครราชสีมา – วันนี้ (3 ตุลาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากอิทธิพลของพายุโนรู ทำให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องตลอดหลายวันที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ทำให้เกิดมวลน้ำสะสมไหลบ่าลงลำน้ำมาศเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ระดับน้ำในลำมาศเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งคลองปลายมาศ เข้าท่วมโดยรอบพื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 14 ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะที่วัดบ้านหลุ่งตะเคียนมวลน้ำที่ไหลเชียวได้กัดเซาะกำแพงวัดทางด้านทิศใต้จนพังเสียหาย น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ภายในวัดอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่กู้ภัยฮุก31จุดห้วยแถลงต้องเร่งขนกระสอบทรายปิดกั้นพื้นที่ป้องกันทรัพย์สินของทางวัดได้รับความเสียหาย ในขณะที่วัดบ้านหัวทะมวง ตำบลงิ้ว ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนถึงพื้นศาลาการเปรียญ ที่คณะสงฆ์จำพรรษาอยู่

ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมวัดในพื้นที่อำเภอห้วยแถลง พระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้พระใบฎีกาศรัญญู ปภสฺสโร เจ้าอาวาสวัดโคกสะอาด อำเภอหินดาด นำสิ่งของจำเป็นเข้าตรวจเยี่ยมพร้อมติดตามสถานการณ์ของน้ำที่ท่วมขัง พร้อมทั้งแนะข้อปฏิบัติในช่วงเข้าพรรษา หลังจากพระสงฆ์เถรวาทอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น แต่หากมีเหตุจำเป็น ก็ไปค้างที่อื่นได้ ครั้งละไม่เกิน 7 วัน เรียกว่า “สัตตาหะ” ซึ่งในกรณีน้ำท่วมนี้ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็น ชาวบ้านสามารถไปนิมนต์ให้ทางคณะสงฆ์มาพักยังสถานที่ปลอดภัยภายในหมู่บ้านได้ พร้อมทั้งยังได้สอบถามถึงความเดือดร้อนอื่นๆของชาวบ้านเพื่อที่จะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป

ในขณะที่โรงเรียนบ้านหัวอ้อทะมวงสามัคคีที่อยู่ใกล้กัน ก็ได้ถูกมวลน้ำที่ล้นตลิ่งจากลำมาศเข้าท่วมเต็มพื้นที่ภายในโรงเรียน จากการสอบถามนางสายตา คำสิงห์นอก ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ เปิดเผยว่า น้ำได้เริ่มเข้าท่วมพื้นที่ภายในโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนก็ได้ขนสิ่งของขึ้นไว้บนที่สูง ในขณะที่สื่อการเรียนการสอนและเอกสารประกอบการเรียนการสอนบางส่วน ก็ได้มีการหนุนให้อยู่สูงขึ้นไปจากพื้นห้องเรียน แต่ไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วมหนักขนาดนี้ โดยล่าสุดน้ำที่เข้าท่วมภายในโรงเรียนมีระดับประมาณ 1.5 – 2 เมตร ท่วมห้องเรียนชั้นล่างได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งจากการสอบผู้สูงอายุในหมู่บ้านก็ทำให้ทราบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 มาจนถึงปัจจุบัน หรือประมาณ 63 ปี ก็เพิ่งมีเหตุการณ์ในปีนี้ที่ถูกน้ำท่วมโรงเรียนหนักที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน และขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคเรียนที่ 1/2565 ทางคณะครูจะได้ประชุมหาแนวทางในการดำเนินการสอบต่อไปให้แล้วเสร็จ เพื่อลดผลกระทบกับนักเรียนในการเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2/2565 หลังจากระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะได้มีการเข้าประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาต่อไป.

///////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา