สิ่งแวดล้อมภาค 11 ตรวจน้ำเสียในสถานประกอบการล้างถังสารเคมี 12 แห่งที่สีคิ้ว พบค่าปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 10 เท่า เร่งสาวหาต้นตอนายทุนลักลอบนำออกมาจากโรงงาน
นครราชสีมา – วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 10.00 น. นายบัญชา ขุนสูงเนิน ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 (นครราชสีมา) พร้อมด้วย พ.ต.ท.วิรุณ ประทะทอง สว.กก.3 บก.ปทส., เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 3 และเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 (นครราชสีมา) ได้ลงพื้นที่ตรวจคุณภาพน้ำเสีย ในสถานประกอบการล้างถังบรรจุสารเคมี 12 แห่ง ในหมู่บ้านซับชุมพล ม.9 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่าในหมู่บ้านมีสถานประกอบการล้างถังบรรจุสารเคมีจำนวนมาก ซึ่งได้ส่งกลิ่นเหม็นและมีการปล่อยน้ำชำระล้างสารเคมีให้รั่วไหลลงสู่คลองธรรมชาติ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนกว่า 150 ครัวเรือน ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.65 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบมีสถานประกอบการหลายแห่งมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองธรรมชาติอย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบการล้างถังบรรจุสารเคมีในหมู่บ้านแห่งนี้มีทั้งหมด 13 แห่ง มีเพียง 1 แห่งเท่านั้นที่มีใบอนุญาตประกอบการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีก 12 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงได้มีคำสั่งให้ อบต.หนองหญ้าขาว สั่งสถานประกอบการทั้ง 12 แห่ง ปิดดำเนินการเป็นการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด พร้อมกับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา แจ้งความดำเนินคดีกับสถานประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตเหล่านี้ด้วย
ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากคำสั่งปิดดำเนินการ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) ได้ใช้เครื่องมือตักน้ำในบ่อเก็บน้ำเสียของสถานประกอบการแต่ละแห่ง เพื่อวัดค่าสารปนเปื้อนในน้ำ ก็พบว่าทุกแห่งมีสารปนเปื้อนโลหะหนักในปริมาณมากเกินกว่ามาตรฐานของน้ำปกติที่สามารถปล่อยลงสู่ธรรมชาติได้ แม้ว่าสถานประกอบการทุกแห่ง จะพยายามปรับปรุงโดยการขุดทำบ่อซีเมนซ์เพื่อพักน้ำที่ผ่านการชำระล้างให้อยู่ในบ่อแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นไปตามระบบของการบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบว่าถังบรรจุสารเคมีที่รับมา ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง อย่างเช่น สารเคมีน้ำยาซักล้างภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีค่ากรดสูงกว่าน้ำยาซักล้างตามบ้านเรือนทั่วไปอีกด้วย
นายบัญชา ขุนสูงเนิน ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 (นครราชสีมา) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้พบว่าผู้ประกอบการทุกแห่ง ไม่สามารถระบุที่มาของถังบรรจุสารเคมีได้อย่างชัดเจน เนื่องจากถังบรรจุสารเคมีเหล่านี้เข้าข่ายถังที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2548 ซึ่งการนำออก ขนส่ง และกำจัดถังเหล่านี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถนำมากำจัดหรือล้างเพื่อจำหน่ายได้ นอกจากนี้จากการตรวจวัดค่าสารปนเปื้อนในน้ำที่บ่อบำบัดน้ำเสียของแต่ละสถานประกอบการ พบว่ามีค่าสารปนเปื้อนโลหะหนักสูงมาก บางแห่งสูงถึง 4,000 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานน้ำปกติที่วัดได้แถวนี้ ที่จะมีค่าสารปนเปื้อนไม่เกิน 300-400 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีค่ากรดด่างสูงทุกแห่ง ซึ่งเป็นอันรายต่อสุขภาพถ้าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ในวันนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาเพื่อที่จะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ เพียงแต่ต้องการมาเพื่อตรวจสอบสภาพน้ำ และสอบถามถึงแหล่งที่มาของถัง เพื่อดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับนายทุนที่นำถังบรรจุสารเคมีออกมาสู่ภายนอก เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ด้านนายเกรียงไกร แคสันเทียะ หนึ่งใน 12 ผู้ประกอบการล้างถังบรรจุสารเคมี ที่ถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว กล่าวว่า ตนเองก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาตนเองก็ได้ประกอบกิจการสืบทอดมาจากรุ่นพ่อ ที่ทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยไม่ทราบว่าผิดกฎหมายข้อใดบ้าง เมื่อถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราวไม่มีกำหนด ก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะที่บ้านก็ต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และเงินกู้หนี้มาลงทุน ที่ตอนนี้ต้นทุนจมอยู่กับถังบรรจุสารเคมีจำนวนมาก ไม่สามารถนำออกไปขายได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยเหลือทำให้สามารถกลับมาเปิดกิจการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็พร้อมที่จะปรับปรุงทุกอย่าง เนื่องจากตนเองไม่มีที่ดินทำไร่ทำนาเหมือนคนอื่น มีเพียงอาชีพนี้เท่านั้นที่เป็นอาชีพหลัก ถ้าไม่ได้ทำอาชีพนี้แล้วก็คงจะอยู่ไม่ได้.
//ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา