หอการค้า ชี้ พิษโควิดกระทบธุรกิจหนัก จี้ รัฐเจรจาแบงก์ชะลอพักหนี้ แนะรัฐแจงสภาพการเงินคงคลังที่แท้จริงแก่ ปชช.
นครราชสีมา-วันนี้ (8 มกราคม 2564) นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสานและที่ปรึกษาหอการค้า จ.นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่ยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายอยู่ สวนทางกับรายได้ที่ลดลง สถานประกอบกิจการต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองตัวไว้ให้ได้นานที่สุด แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะช่วยพยุงภาคธุรกิจไว้ได้ คือรัฐบาลต้องเป็นคนกลาง เจรจากับธนาคารพาณิชย์โดยตรง ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่างวดสินเชื่อทุกอย่างเอาไว้ก่อน โดยมีกติกากลางออกมาให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังแพร่ระบาด เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้ หรืออาจออกเป็นมติ ครม.เร่งด่วน ให้ระงับไว้ก่อน รัฐบาลจะต้องจริงจัง พูดตรงๆ ให้ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลไปเลย เพราะคาดว่า สถานการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และ ไม่ต่ำกว่า 2 ปีธุรกิจจึงจะฟื้นตัวได้ จึงอยากให้รัฐบาลคิดไว้ด้วยว่าจะทำอย่างไร เพื่อประคองสถานการณ์ให้อยู่ได้ และต้องดึงรัฐมนตรีที่มีความสามารถมาทำงานแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยตรง
ส่วนการบริหารงบประมาณปี 2563/ 2564 ช่วงโควิด เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไมรัฐบาลจึงตั้งงบขาดดุลเท่าเดิม ทั้งๆที่ภาคธุรกิจหยุดชะงัก จำหน่ายสินค้าไม่ได้ตามเป้า จะต้องลดต้นทุนลง แต่รัฐยังคงตั้งงบรายรับรายจ่ายเท่าเดิมอยู่ ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายกำลังจับตาอยู่ ส่วนการใช้จ่ายงบแก้ไขปัญหาโควิด-19 จะต้องไม่มีการทุจริต ถ้ามีต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด และทุกภาคส่วนจะต้องจับมือกัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็ว
ที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องพูดความจริงกับประชาชนว่า มีเงินในคลังหรือมีเงินสำรองอยู่เท่าไร จะสามารถนำเงินมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องแจงสถานภาพทางการเงินให้ชัดเจน ส่วนกรณีที่หลายคนกังวลว่า รัฐบาลไม่มีเงินเยียวยา จึงไม่ประกาศล็อกดาวน์นั้น เรื่องนี้ ตนมองว่า รัฐบาลต้องกล้าหาญที่จะตัดสินใจ โดยอาจยุติโครงการต่างๆเอาไว้เพื่อเอาเงินมาแก้ไขไวรัสโควิด-19 ก่อนต้องเด็ดขาดทุกเรื่อง ส่วนเงินที่นำมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ก็ควรถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ควรส่งผ่านโครงการต่างๆ โอนเข้าบัญชีของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะดีที่สุด
นอกจากนี้ เรื่องการให้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ หรือการออกมาตรการต่างๆ พบว่า ยังไม่มีความชัดเจนหลายเรื่อง อีกทั้งการให้ข้อมูลของรัฐมนตรียังขัดแย้งกันอยู่ ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องรีบควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เพื่อให้ข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน อย่าให้ประชาชนสับสน ส่วนการที่ ศบค.และสาธารณสุข พูดไม่ตรงกัน โยนปัญหาให้ 56 จังหวัดพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง แก้ไขกันเอง เรื่องนี้ตนมองว่า ทำให้จังหวัดทำงานลำบาก และไม่ยุติธรรมกับจังหวัดเหล่านี้ แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินใจให้ ออกเป็นนโยบายกลาง แต่ละจังหวัดจะปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า ยุติธรรมกับทุกฝ่ายและไม่เกิดปัญหาลูกโซ่อื่นๆตามมา
////////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา