ผู้ว่าโคราช นำทีมแถลงอย่างเป็นทางการ เลื่อนการจัดงานย่าโม 2563 ออกไป คงเหลือเฉพาะพิธีบวงสรวงและรำบวงสรวงเท่านั้น เชื่อมั่นมาตรการ 3 ชั้น คัดกรองรัดกุมป้องกันควบคุมเชื้อโควิด-19ได้

นครราชสีมา-วันนี้ (9 มีนาคม 2563) ที่ห้องนางสาวบุญเหลือ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ,นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัด ,นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ และนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดฯ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับการเลื่อนการจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ประจำปี 2563 ออกไปโดยไม่มีกำหนด รวมถึง มาตรการรองรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัด

โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การเลื่อนการจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ประจำปี 2563 มีหลายภาคส่วนได้ร่วมหารือแสดงความคิดเห็น จนได้ข้อสรุปว่า ให้มีการเลื่อนการจัดงานเฉลิมฉลองฯ ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด แต่ในส่วนของพิธีบวงสรวงสักการะในวันที่ 23 มีนาคมที่ชาวโคราชกระทำสืบต่อกันมาทุกปี จะยังคงไว้เช่นเดิมเพื่อความสบายใจของทุกภาคส่วน โดยตั้งแต่เช้าจะเป็นพิธีบวงสรวงสักการะท้าวสุรนารีที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ส่วนช่วงบ่ายๆ จะเป็นการรำบวงสรวง และในวันที่ 24 มีนาคมช่วงเช้า จะเป็นพิธีวางพวงมาลาสักการะฯ แต่ทั้งนี้ พิธีบวงสรวงจะงดกิจกรรมอื่นๆและงดขบวนแห่ รวมถึง ลดขนาดจำนวนผู้รำลงด้วย โดยจะมีประตูผ่านเข้าสู่งานไม่เกิน 3 จุด ไว้สำหรับตรวจคัดกรองนางรำทุกคนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่า จะสามารถควบคุมไม่ให้มีกลุ่มเสี่ยงหรือมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่พื้นที่จัดพิธีบวงสรวงได้ ส่วนผู้ติดตามนางรำ หรือประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป จะมีการสุ่มตรวจคัดกรอง และประชาชนสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ดูแลตนเองและสามารถไปตรวจคัดกรองได้ด้วย

ด้านนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เดิมปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมรำบวงสรวงท้าวสุนารี ประมาณ 6,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา จำนวน 1,600 คน นอกนั้น เป็นสตรีชาวจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางเหล่ากาชาดจังหวัดฯ และจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ประชุมตกลงกัน โดยในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่จะมีการซ้อมรำร่วมกันอีก 1 ครั้ง ก็จะถือโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจนางรำทุกคน ว่า สามารถมาร่วมรำบวงสรวงได้ตามความสมัครใจ และตามความพร้อมของแต่ละกลุ่ม ส่วนมาตรากรในการควบคุมป้องกันโรค ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ แจ้งว่า ระยะปลอดภัยคือให้นางรำ ยืนรำห่างกันไม่น้อยว่า 1.5 เมตร และให้นางรำแต่ละคนสำรวจตนเองว่าสุขภาพแข็งแรงดี หรือมีไข้รึเปล่า ซึ่งก่อนเข้าสู่พื้นที่รำบวงสรวง จะมีการตรวจคัดกรองสุขภาพนางรำทุกคนอีกครั้งทั้งที่มาจากต่างอำเภอและอยู่ในเขตเมือง เพื่อให้เกิดความมั่นใจร่วมกัน

นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ ได้กล่าวเสริมเรื่องการคัดกรองนางรำและผู้เข้าร่วมพิธีบวงสรวงท้าวสุรนารี ว่า จะจัดส่งทีมงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นก่อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรจะงดเรื่องการรำบวงสรวง เพราะมีอโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป ส่วนวันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่จะมีการซ้อมใหญ่ จะขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ช่วยสกรีนอีกรอบ เน้นผู้ที่มีอาการไข้มีโรคประจำตัว ซึ่งเมื่อผ่านการคัดกรอง 2 ชั้นแล้ว ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 ก็จะเชิญนางรำที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้ว มาพร้อมกันที่จุดตรวจคัดกรองหน้างานฯ ไม่เกิน 15.00 น. เพื่อตรวจไข้และระบบทางเดินหายใจอีกครั้ง จึงขอให้ผู้ที่ไม่ได้รำ ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรง และผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรอง ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยหากต้องการเข้าชมพิธีบวงสรวง จะต้องใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อและจะต้องผ่านการคัดกรองตรวจสุขภาพก่อนที่จุดตรวจคัดกรองหน้างาน ซึ่งการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามนโยบายของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุดในตอนนี้ ที่ทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

////////////////

หมายเหตุ

1.ผู้ชายสวมชุดข้าราชการ ใส่แว่น คือ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

2.ผู้หญิงผมยาว สวมเสื้อดำ กั๊กน้ำเงิน คือนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา

3.ผู้ชายสวมเสื้อซาฟารีสีขาว ใส่แว่น คือ นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา\