วันที่ 10 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนสัตว์นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยสวนสัตว์นครราชสีมา ได้เปิดตัว “ลูกพญาแร้ง” เพศเมีย ตัวแรกของทวีปเอเชีย และของประเทศไทย หลังรอมากว่า 30 ปี ภายใต้การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย โดยมี นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และนายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว
โดยแม่พญาแร้ง ได้ออกไข่ใบแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และทางเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ได้นำเข้าตู้ฟัก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 โดยธรรมชาติพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้น ต่อฤดูการผสมพันธุ์ แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มประชากรพญาแร้ง โดยให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่สอง และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่แม่พญาแร้ง สามารถออกไข่ใบที่สอง ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเอง เพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าอาจได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้ โดยลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรก ฟักออกมาเป็นตัว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาการฟักในตู้ฟักประมาณ 50 วัน สำหรับ ลูกพญาแร้ง ซึ่งเกิดจากแม่ชื่อว่า นุ้ย และพ่อชื่อ แจ็ค หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลก ก็ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เป็นอย่างดี
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โลกของเรา มีแร้งทั้งหมด 23 ชนิด ในประเทศไทยพบ 5 ชนิด รวมถึง พญาแร้ง ซึ่งเป็นแร้งประจำถิ่นของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทย ไม่พบแร้งประจำถิ่นอยู่ในธรรมชาติอีกเลยมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยพญาแร้งฝูงสุดท้ายพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วกว่า 30 ปี จากการโดนยาเบื่อที่พรานล่าสัตว์ป่าใส่ไว้ในซากเก้งเพื่อล่าเสือโคร่ง ซึ่งพบซากพญาแร้งครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 แร้งทุกชนิดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะพญาแร้ง ที่มีสถานภาพเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) ตามองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรพญาแร้งในธรรมชาติไม่ถึง 9,000 ตัว การเกิดขึ้นของลูกพญาแร้งในสถานที่เพาะเลี้ยงถือเป็นเรื่องยากมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งแค่ในสถานที่เพาะเลี้ยง จำนวนเพียงแค่ 6 ตัวเท่านั้น
โดยสวนสัตว์นครราชสีมา มีความพยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี โดยพ่อแม่พญาแร้งคู่แรก เริ่มให้ไข่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ จึงมีความพยายามจับคู่ผสมพันธุ์ใหม่โดยใช้วิธีตามธรรมชาติ ปัจจุบันลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในสถานที่เพาะเลี้ยงทั่วโลก มีเพียงแค่ประเทศอิตาลี และประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สองที่สามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งได้ในสถานที่เลี้ยง นับเป็นความสำเร็จขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
พญาแร้ง เป็นนกขนาดใหญ่ มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย แถบประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ภูฏาน จีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ขณะที่ในประเทศไทย ไม่พบพญาแร้งในธรรมชาติมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งในประเทศไทย เหลือพญาแร้งอยู่ที่สวนสัตว์นครราชสีมา และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เท่านั้น พญาแร้งมีขนาดลำตัวประมาณ 80 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่ หัว คอ และเท้า มีสีแดง ขนตามลำตัวสีดำ ขนที่หน้าอก และโคนขามีสีขาว ที่คอมีสีขาวขึ้นโดยรอบคล้ายสวมพวงมาลัย ลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันระหว่างเพศผู้ และเพศเมีย คือ เพศผู้ม่านตาสีเหลือง ส่วนเพศเมียจะมีม่านตาสีดำไปจนถึงสีแดงหม่น การขยายพันธุ์ วางไข่ครั้งละ 1 ฟอง ทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ และใช้รังเดิมในการวางไข่ในปีถัดไปด้วย.
ขอบคุณที่ ภาพ/ข่าว อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.นครราชสีมา