โคราช จับมือ มทส.และสถาบันแสงซินโครตรอน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการทอผ้าไหมปักธงชัย เป็นหน้ากากอนามัยคุณภาพสูง เทียบเท่าหน้ากากใช้ในทางการแพทย์ พร้อมให้ชุมชนนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าในอนาคต
นครราชสีมา – วันที่ 16 มีนาคม 2564 เวลา 11.30 น. ที่อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและนวัตกรรมสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาขึ้น โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และรองศาสตราจารย์ สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามในครั้งนี้ โดย มทส. จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ สซ. จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านแสงชินโครตรอนที่เป็นประโยชน์ต่อจังหวัดนครราชสีมาเพื่อนำไปพัฒนาจังหวัด
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในด้านการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและนวัตกรรม เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่โดยสะดวกและทั่วถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) “โคราชเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีความสุขมั่นคงยั่งยืน” และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา คือ “ศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมและท่องเที่ยวของภูมิภาค นวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม สังคมคุณภาพสูง” ซึ่งการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ จะช่วยให้ชุมชนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น ในอนาคตก็อยากจะให้มีการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับการยืดอายุการจัดเก็บผลผลิตทางด้านการเกษตร ให้สามารถเก็บได้ยาวนานยิ่งขึ้น เพราะบางช่วงผลผลิตทางการเกษตรออกมาพร้อมกันในปริมาณมาก หากไม่สามารถรักษาความสดใหม่ให้อยู่ได้นาน ก็จะเน่าเสีย สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ก็หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้พี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ นำไปใช้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับครอบครัวต่อไปในอนาคต
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้องค์ความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งของมหาวิทยาลัย และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นการดำเนินงานร่วมกัน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบอันส่งผลสู่เศรษฐกิจ การจ้างงาน และความเข้มแข็งของสังคมไทยต่อไป”
ขณะที่รองศาสตราจารย์ สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น หรือระดับจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่าง “แสงซินโครตรอน” ในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตในชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดี ความสามารถในการแข่งขันของชุมชนได้ ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการ พัฒนาของยุทธศาสตร์ซาติ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มีโครงการนำร่องในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติของผ้าไหมไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติ ที่เป็นวัสดุท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ และได้นำร่องถ่ายทอดเทคโนโลยีการทอผ้าไหมและการตัดเย็บให้แก่ชุมชนในอำเภอปักธงชัย และจะถ่ายทอดให้กับชุมซนอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป
งานวิจัยนี้เป็นการนำวิทยาศาสตร์ชั้นสูงมาพัฒนาและยกระดับสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติที่เป็นวัสดุท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นหน้ากากทางการแพทย์ โดยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติ สมบัติทางวัสดุศาสตร์ และสมบัติทางเคมี อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพการกรอง เปรียบเทียบกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง และผ้าชนิดต่างๆ ที่มีเส้นใยและรูปแบบการทอแตกต่างกัน
ทีมวิจัยจึงนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ออกแบบรูปแบบการทอผ้าไหมให้สามารถกรองฝุ่นและแบคทีเรียได้ดีเทียบเท่ากับหน้ากากทางการแพทย์ โดยปรับเปลี่ยนขนาดเส้นไหมเป็นไหมควบ 3 เส้นและทอลายขัด 2 ตะกอ ซึ่งทดสอบแล้วพบว่าผ้าไหมนี้กรองอนุภาค PM 2.5 และ 0.3 ไมครอนได้มากถึง 85% ซึ่งดีกว่าผ้ามัสลินที่กรองได้เพียง 16-18% แต่ที่พิเศษกว่าก็คือผ้าไหมยังให้การระบายอากาศได้ดี ให้ความรู้สึกเย็นและไม่ทำให้อึดอัดหากต้องสวมใส่เป็นเวลานาน.
///////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา
หมายเหตุ
1.คนใส่เสื้อผ้าไหม สีชมพู นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
2.คนใส่สูทสวมแว่นตา ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
3.คนใส่สูทไม่สวมแว่นตา รองศาสตราจารย์ สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน