ปริมาณน้ำในเขื่อนโคราช ยังต้องการฝนอีกมาก ชลประทานจึงจะอุ่นใจวางแผนบริหารจัดการใช้ฤดูแล้งปีหน้า
นครราชสีมา-ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาวันนี้ (19 มิถุนายน 2563) พบว่า ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากห้วงปีที่ผ่านมาประสบกับสถานการณ์ภัยแลงและฝนทิ้งช่วง ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงอ่างฯ ขณะเดียวกันต้องปล่อยจ่ายไปเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคอุสาหกรรม ภาคการเกษตร และอื่นๆ จึงทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และแม้ช่วงนี้จะเข้าสู่หน้าฝน เกิดพายุนูรีและลมมรสุมพาดผ่าน ทำให้ฝนตกหนัก แต่ปริมาณน้ำฝนยังไหลลงอ่างฯ น้อย
ล่าสุด โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสภาพน้ำปัจจุบันว่า สำหรับปริมาณน้ำในภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดพบว่า 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ปริมาณน้ำลดลง เหลือน้ำ 89.28 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28.39 % เป็นน้ำใช้การได้เพียง 66.56 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 22.81 % ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มิปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยมีน้ำกักเก็บ 14.61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 9.43 % เป็นน้ำใช้การได้ 13.89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 9.00 % ,อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี ปริมาณน้ำลดลง เหลือน้ำ 24.11 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.10 % เป็นน้ำใช้การได้ 17.11 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12.77 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ปริมาณน้ำลดลงเช่นกัน เหลือน้ำ 37.00 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 13.46 % เป็นน้ำใช้การได้ 30.00 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 11.20 % ขณะที่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัด มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวม 60.33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.22 % และเป็นน้ำใช้การได้ 35.91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 11.73 % ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บภาพรวมทั้งจังหวัด อยู่ที่ 225.34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.52 % และเป็นน้ำใช้การได้ 163.48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14.16 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยังไม่น่าอุ่นใจ แต่ละอ่างเก็บน้ำฯ จึงต้องวางแผนบริหารจัดการอย่างรัดกุมเพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด สำรองเป็นน้ำตันทุนไว้ใช้ให้เพียงพอจนถึงฤดูแล้งปีหน้า ส่วนช่วงหน้าฝนปีนี้ ภาคเกษตรในเขตชลประทานจะให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ยกเว้นเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทางชลประทานจึงจะส่งจ่ายน้ำไปช่วย
///ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา