โคราช คุมการระบาดโควิด-19 บุกจับร้านอาหาร 7 แห่ง เปิดเกินเวลา ฝ่าฝืนคำสั่ง หลังยอดผู้ป่วยโควิดพุ่งทะลุหลักพัน
นครราชสีมา-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 23.30 น.วานนี้ (11 มีนาคม 2565) นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้นายณฐพัชร์ พุทชา ปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา ฝ่ายความมั่นคง สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจัดระเบียบสังคมอำเภอเมืองนครราชสีมา รวมทั้ง สมาชิกร้อย อส.นม.ที่ 2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง ออกดำเนินการจัดระเบียบสังคม และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
โดยเริ่มเข้าตรวจหลังเวลา 23.00 น.เป็นต้นไป เน้นตรวจร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ที่เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการ ซึ่งพบว่า มีร้านที่ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา เปิดบริการเกินเวลา 23.00 น. เจ้าหน้าที่ฯ จึงเข้าแสดงตัว และดำเนินการจับกุมผู้ประกอบการร้านอาหาร จำนวน 7 ร้าน ตั้งอยู่โซนบริเวณหลังประตู 4 มทส. ได้แก่ ร้านพรีเมียร์ บาร์ , ร้านพราวด์ ,ร้านWink Bar ,ร้านอารีย์ ,ร้านติวหนังสือ ,ร้านซัมบาล่า และร้านรฤก ซึ่งแต่ละร้านพบผู้มาใช้บริการจำนวนมก ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น กำลังดื่มกินอาหารเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบางร้านเปิดเพลง ปล่อยให้เต้นที่โต๊ะอาหารกันอย่างเมามัน จึงดำเนินการเข้าจับกุม ขณะเข้าทำการตรวจค้น จับกุม จึงได้สั่งให้ปิดเพลงและเปิดไฟ ก่อนจะ จับกุมแจ้งข้อกล่าวหากับทางผู้ประกอบการ ทั้ง 7 ร้าน พร้อมกับทำการสุ่มตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะนักท่องเที่ยว จำนวน 128 คน แต่ไม่พบสารเสพติด โดยแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ประกอบการ ดังนี้
- ขายหรือนำสุราออกแสดงเพื่อการขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2497
- ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยการลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย ฯ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พ.ศ.2551
- ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ 875/2565 ข้อ 2 ฯ สั่ง ณ วันที่ 21 มกราคม 2565
จากนั้น ในเวลา 01.30 น. วันที่ 12 มีนาคม 25.65 ชุดจับกุมฯ ได้นำตัวผู้จัดการร้าน และ/หรือเจ้าของร้าน มาทำบันทึกจับกุม ที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.โพธิ์กลางเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ในขณะที่สถานการณ์การแร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 1,314 ราย เป็นการพบเชื้อจากการตรวจ RT-PCR จำนวน 415 ราย และตรวจ ATK ผลเป็นบวกอีก 899 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการปานกลาง เคสสีเหลือง 78 ราย คิดเป็น 6 % ส่วนที่เหลือ จำนวน 1,236 ราย หรือ 94 % เป็นผู้ป่วยเคสสีเขียว อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้ยอดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 30,329 ราย รักษาหายแล้ว 20,017 ราย ยังรักษาอยู่ 10,260 ราย เสียชีวิตสะสม 52 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 0.17 % ซึ่งปี 2564 อัตราป่วยตาย อยู่ที่ 0.81%
และเมื่อเทียบสัดส่วน 100 % ในกลุ่มผู้ป่วยสะสมที่ยังรักษาตัวอยู่ 10,260 ราย จะพบว่า เป็นผู้ป่วยเคสสีแดง อาการหนัก 74 ราย คิดเป็น 1 % ,ผู้ป่วยเคสสีเหลือง 1,104 ราย คิดเป็น 11 % และผู้ป่วยเคสสีเขียว มีจำนวนมากสุด 9,082 ราย หรือคิดเป็น 88 % ทั้งนี้ กระจายรักษาตัวอยู่ใน รพ. 1,862 ราย ,รพ.สนาม 204 ราย , กักตัวรักษาที่ CI ชุมชน 1,703 ราย ,กักตัวรักษาที่บ้าน HI 6,350 ราย และอีก 141 ราย เป็นผู้ป่วย OP-SI หรือ Outpatient with Self Isolation จะรักษาแบบผู้ป่วยนอกเหมือนระบบ HI เกือบทั้งหมด ยกเว้นจะไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน และไม่มีบริการอาหาร จะมีการโทรศัพท์ติดตามอาการเพียง 1 ครั้ง คือหลัง 48 ชั่วโมง ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อได้ตลอดเวลาหากมีอาการ หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม.
//////////////ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา