กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 2 เตือนภัยพายุฤดูร้อนถล่ม “เหนือ-กลาง-อีสาน-ตะวันออก” 10-13 พ.ค.นี้
วันที่ 9 พ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณหัวเกาะสุมาตรา ซึ่งจะส่งผลทำให้คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้ออกประกาศ 2 เรื่อง”พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 2 (91/2563)” โดยระบุว่า ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ค.2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นโดยจะเริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า จะส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกจะเริ่มมีผลกระทบในคืนวันที่ 10 พ.ค.2563 ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล จะเริ่มได้รับผลกระทบในวันที่ 11 พ.ค. 2563

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงรวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
