กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและระหว่างประเทศ ร่วมกันจัดงาน “วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก ประจำปี พ.ศ. 2566” World Ranger Day 2023 ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและระหว่างประเทศร่วมกันจัดงาน “วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก ประจำปี พ.ศ. 2566” World Ranger Day 2023 ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและการทำงานอันเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการปกป้องรักษาทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศและกับบุคลากรภายในและภายนอกหน่วยงาน และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคนเป็นผู้ที่มีความเสียสละ ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทและอุตสาหะ ทำให้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้พิทักษ์ป่ารวมทั้งสิ้น 26,400 คน แบ่งเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 20,275 คน กรมป่าไม้ จำนวน 5,737 คน และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 388 คน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการดำเนินการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ประสบอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน จำนวน 444 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 199 ราย เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ 245 ราย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 11,684,983 บาท
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่ง ในการรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาวิจัยและแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเสียความสมดุลไปจะเป็นเหตุของปัญหาระดับโลก อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อความเพียงพอของแหล่งอาหาร รวมถึงน้ำสะอาดที่จะลดลงทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และการได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีนี้ กล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งแลกมาด้วยการอุทิศตนปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ยากลำบากและเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อันจะหาผู้ปฏิบัติได้น้อย ถือเป็นการกระทำอันมีเกียรติ ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชู ภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นงานหนักที่ได้รับค่าตอบแทนไม่สูง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ให้การดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการและการสนับสนุนยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ให้ดีที่สุด รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในการเข้าปะทะกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังผลักดันในการปรับฐานเงินเดือนค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไปอีกด้วย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมพิทักษ์ป่าโลก ในปีพุทธศักราช 2549 ณ ประเทศสกอตแลนด์ กำหนดให้วันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันก่อตั้งสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ-International Federation Ranger หรือ IRF เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า เป็นวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก โดยให้วันนี้ในทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในการปฏิบัติงาน ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกันจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงาม ความดี ตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่าไม้และท้องทะเล อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าปฏิบัติงานอย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากการจัดงานในทุกปี ได้มีองค์กร สมาคม มูลนิธิ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังมีการจัดกิจกรรมวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่ 18 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดสดผ่านระบบ Zoom การจัดงานในทั้ง 18 พื้นที่อีกด้วย