จากกรณีที่กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่อากาศในช่วงเช้า พื้นที่ กทม.และปริมณฑล อากาศลอยตัวได้น้อย ลมสงบ ซึ่งจากสภาพเช่นนี้จะทำให้ปริมาณฝุ่นละอองสะสมได้ ส่งผลทำให้สถานการณ์ PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานทุกพื้นที่ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จำนวน 39 พื้นที่

จากการตรวจวัดเขตในพื้นที่ริมถนน มีค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 23 สถานี ส่วนพื้นที่ทั่วไป เกินค่ามาตรฐาน 16 สถานี คาดการณ์ ในช่วงบ่ายของวันนี้ อากาศลอยตัวได้น้อย ลมสงบ ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองมีโอกาสสะสมมากขึ้น และจะเป็นไปจนถึงวันที่ 4 ก.พ.62 ซึ่งผู้ว่า กทม. ได้สั่งด่วนให้รองปลัดกทม. แจ้งโรงเรียน 437 แห่งในสังกัดกทม. เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองพิษ ซึ่งจะปิดการเรียนการสอนตั้งแต่วันนี้ 12.00 น. ถึง 1 ก.พ. 2562 เพื่อให้เด็กนักเรียนไม่ได้รับผลกระทบ และลดปริมาณการใช้ลดรถยนต์ของผู้ปกครองอีกด้วย

โดยก่อนหน้านี้ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวในงานแถลงข่าว “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว” ว่า “ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 หลายคนมองว่ามาจากควันดำ ส่วนบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นควันสีขาวนั้นล้วนก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เหมือนกัน มีผลการวิจัยเทียบกันง่ายๆ ระหว่างควันบุหรี่กับไอเสียรถยนต์ โดยทดลองนำรถดีเซลที่เป็นรถปิกอัพเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี เข้ามาในโรงจอดรถแบบปิดขนาด 60 ตารางเมตร โดยจอดสตาร์ททิ้งไว้นาน 30 นาที เทียบกับบุหรี่ 3 มวน”

“ที่จุดทิ้งไว้ในโรงรถขนาดเดียวกันต่อเนื่อง 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า บุหรี่ 3 มวน ก่อให้เกิดค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าไอเสียจากรถยนต์ โดยสูงถึง 591.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่ไอเสียรถยนต์ดีเซลสูง 250.8 มคก./ลบ.ม. จะเห็นได้ว่า บุหรี่ให้กำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเยอะกว่าท่อไอเสียมากๆ และทุกวันนี้คนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ย 10.9 ล้านคน หรือทุกๆ 6 คน จะมีคนไทยสูบบุหรี่ 1 คน อยากให้ลองคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้นควันจะเยอะมากแค่ไหน

“ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าที่คนไทยคิดว่ามีความปลอดภัยกว่า ก็ได้มีการศึกษาโดยนักวิจัยไปเก็บข้อมูลงานโปรโมตขายบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งมีผู้สูบประมาณ 59-86 คน ที่เดินเข้าออกอีเวนต์ฮอลล์ขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตร โดยวัดค่า PM 2.5 ใน 3 ช่วง คือ 1 วันก่อนจัดงาน วันจัดงาน และ 1 วันหลังจัดงานผลปรากฏว่า ช่วงก่อนวันจัดงานค่า PM 2.5 เป็นปกติ แต่ขณะจัดงานค่าฝุ่นสูงมากกว่า 800 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยรายปี 10 มคก./ลบ.ม. ถึงกว่า 80 เท่า ขณะที่หลังจากจัดงานเสร็จ ก็พบว่าค่าฝุ่นยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อทดสอบด้วยการอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าภายในกล่องอะคริลิก แล้ววัดค่า ปรากฏว่าเกินกว่า 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่เครื่องมือวัดได้ หลังจากดูดควันออกจากกล่องและเช็ดทำความสะอาดแล้ว ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงถึง 130 มคก./ลบ.ม.”

ต่อมา รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า “แชร์ให้ถึงอัศวิน….ไอเดียของ กัปตันปิยะ ตรีกาลนนท์ CEO บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด ที่ยินดีบินให้ “ฟรี” ไม่คิดค่าใช้จ่าย สามารถขนน้ำได้เที่ยวละ 140 กก. ต่อลำ โดยเราสามารถบินเกาะหมู่หน้ากระดาน 10-20 ลำ (wing span 10 เมตร”

“บินห่างกันระหว่างลำข้างละ20เมตร)กินพื้นที่หน้ากระดานได้คราวละ 1,000 เมตร(1กิโล) เพื่อปล่อยละอองน้ำนาน20นาที นั่นหมายถึงได้พื้นที่ทางยาว 40 กิโลเมตรทางกว้าง1กิโลเมตรต่อเที่ยว วันนึงบินได้ 4-5 เที่ยวสบายๆครับ ขอแค่น้ำและอุปกรณ์ใส่น้ำ และรัฐอำนวยความสะดวกด้านกฏหมายการบิน อ.อ๊อด จะร่วมบินไปพร้อมกับทีมนี้ครับ เครื่องบินมี 47 ลำCEO บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด(สำนักงานใหญ่) เลขที่ 88/117 ซอยวิภาวดีรังสิต72 แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานค 10210 ติดต่อ โทร. 0-2900-4644”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ​ มีการนัดทุกภาคส่วน​ รวมถึงจะพูดคุยกับกัปตันปิย CEO ของโรงเรียนการบินกรุงเทพ​ เพื่อที่จะปฏิบัติการนำเครื่องบินกว่า 47 ลำขึ้นบิน เพื่อฉีดละอองน้ำที่มีขนาดเล็ก ในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล​ ปฏิบัติการบรรเทาวิกฤต PM 2.5

ล่าสุด ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครได้เชิญ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ารับฟังการหารือ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมว่า กรุงเทพมหานครได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการก่อสร้างกว่า 100 ราย มาขอความร่วมมือช่วยลดฝุ่นละอองและมลพิษต่างๆ ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้มีการติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อดักจับและช่วยลดฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศ ที่อาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และอาคารสำนักงานของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และวันนี้ชมรมโดรนเพื่อการเกษตร จากจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ ได้เริ่มนำโดรนขึ้นบินเพื่อฉีดพ่นละอองน้ำสะอาดลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ โดยจะทยอยนำโดรนมาเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และจะทำการบินต่อเนื่องหมุนเวียนไปตามจุดต่างๆ ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ

โดยเป็นที่น่ายินดีที่โรงเรียนการบินกรุงเทพมหานคร จะนำเครื่องบินจำนวน 47 ลำ ขึ้นบินเพื่อฉีดพ่นละอองน้ำช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศด้วย โดยจะเริ่มขึ้นบินครั้งแรกในวัน 1 กุมภาพันธ์ บริเวณถนนพระราม 2 ทั้งเส้น รัศมี 1 กิโลเมตร ความยาว 60 กิโลเมตร

 

“สาเหตุที่เลือกเริ่มบินบริเวณถนนพระราม 2 นั้น เนื่องจากถนนพระราม 2 ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางวิ่งของรถบรรทุก อีกทั้งในการขึ้นบินนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่สุ่มเสี่ยง เช่น เขตหวงห้ามการบิน เส้นทางบินพาณิชย์ และตึกสูง” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

หลังจากที่เมื่อวันที่ 30 มกราคม กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุเดือดร้อน รำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการตรวจจับควันดำและไม่มีเครื่องตรวจจับควันดำ แต่ได้ประสานไปยังผู้บังคับการตำรวจจราจรในการดำเนินการตรวจจับรถควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งทางตำรวจจราจรมีด่านตรวจจับรถควันดำ 20 ด่าน แต่มีเครื่องตรวจจับควันดำเพียง 14 ตัว ซึ่งไม่เพียงพอ

จึงได้ประสานกรมควบคุมมลพิษขอยืมเครื่องตรวจจับควันเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจจับรถควันดำได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือประชาชนงดใช้รถควันดำ ให้มีการตรวจสภาพรถตัวเองให้สมบูรณ์พร้อมก่อนนำมาใช้งาน อีกทั้งในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันทำกิจกรรม Big Cleaning Day ล้างทำความสะอาดบ้านเรือนของตนให้สะอาดสวยงาม ซึ่งเป็นการช่วยลดฝุ่นละอองอีกทาง

“อะไรที่กรุงเทพมหานครสามารถทำได้เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง กรุงเทพมหานคร พร้อมทำทุกอย่าง ถึงจะทำได้ไม่มากแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แม้จะช่วยปริมาณฝุ่นละอองได้เล็กน้อยแต่ก็ยังดีที่ช่วยลดได้บ้าง ซึ่งจะยังคงเดินหน้าทำต่อไปเรื่อยๆ อาจถูกใจบ้างหรือไม่ถูกใจบ้าง แต่อยากให้ทุกคนช่วยกัน บางคนอาจได้รับผลกระทบบ้าง อย่างการปิดโรงเรียนบางคนอาจไม่เห็นด้วย แต่เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และไม่อยากให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวปิดท้าย

ขอบคุณผู้เรียบเรียงโดย : สุลาลีวัลย์ หงษ์เวียงจันทร์