บอร์ดค่าจ้าง จ่อเคาะค่าจ้างขั้นต่ำ 77 จังหวัด ขึ้น 2-10 บาท
มื่อวันที่ (20 ก.พ. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างขั้นต่ำ กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 ซึ่งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสรุปตัวเลขแล้ว และอยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองพิจารณา ก่อนส่งตัวเลขที่เหมาะสม ให้คณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดค่าจ้าง เคาะตัวเลข เพื่อบังคับใช้ภายในวันที่ 1 เม.ย. ว่า ขั้นตอนการพิจารณาตัวเลขของอนุกรรมการฯ ที่แต่ละจังหวัดเสนอมาได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้บอร์ดค่าจ้างที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ประชุมพิจารณาเคาะตัวเลข โดยตัวเลขค่าจ้างมีเสนอให้ปรับขึ้นทุกจังหวัดในอัตรา 2-10 บาท มี 49 จังหวัด ที่ไม่มีการเสนอตัวเลขใหม่เข้ามา ทั้งที่การคำนวณตามสูตรการปรับขึ้น อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองจึงได้พิจารณาให้ปรับขึ้น 2 บาทเท่ากัน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอัตราตัวเลขปรับค่าจ้างที่แต่ละจังหวัดเสนอ และมีมติว่าให้ปรับขึ้นทั่วประเทศ 2-10 บาท มี 49 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข แต่จะปรับขึ้น 2 บาท เท่ากัน ส่วนอีก 28 จังหวัด เสนอปรับ 10 บาท 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ภูเก็ต และชลบุรี ปรับขึ้น 7 บาท มี 1 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ขึ้น 5 บาท อาทิ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ระยอง สมุทรสาคร นครราชสีมา ขึ้น 4 บาท อาทิ นราธิวาส ชัยภูมิ ขึ้น 3 บาท อาทิ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ โดย กรุงเทพฯ มีการเสนอปรับขึ้นสูงสุด 14 บาท แต่ก็ถูกพิจารณาปรับลดเหลือ 10 บาท เท่ากับสมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ส่วนบอร์ดค่าจ้างชุดใหญ่ จะมีมติตามที่เสนอหรือไม่ ต้องรอมติที่ประชุมในระบบไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ควรต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อย่างปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 1.2% แต่ละจังหวัดก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น เฉลี่ยคิดว่าน่าจะประมาณ 3% อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณานายจ้างอีกฝั่งด้วย ที่อาจจะได้รับผลกระทบ เพราะอย่างการปรับค่าจ้างเมื่อปี 2561 มีนายจ้างกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประมง อิเล็กทรอนิกส์ เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบเหมือนกัน และการปรับเพิ่มค่าจ้างสูงเกินไปอาจจะไปเป็นตัวเร่งให้บางอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น เร็วขึ้นก็ได้