ธปท.เปิดเกณฑ์พักหนี้ นายจ้างที่กิจการถูกสั่งปิดตามคำสั่งทางการ ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือตกงานจากกรณีดังกล่าวทั่วประเทศ ทั้งในและนอก 10 พื้นที่ควบคุมสูงสุด รับสิทธิ์พักหนี้ 2 เดือนกับสถาบันการเงินทุกแห่ง รวมทั้งหนี้ของนอนแบงก์ด้วย โดยสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.นี้ แต่ดอกเบี้ยช่วงพักหนี้ยังเดินอยู่ ดังนั้น ใครยังผ่อนไหวอยากให้ผ่อนต่อ ใครที่ปรับโครงสร้างหนี้อยู่ ทำต่อไปอย่าหยุด

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวถึงแนวทางการประกาศพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกหนี้รายย่อยเป็นเวลา 2 เดือน ว่า ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.นี้ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดและนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นได้ทั้งนายจ้างของสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดกิจการตามคำสั่งของทางการ รวมทั้งลูกหนี้ที่ถูกเลิกจ้าง หรือตกงานจากคำสั่งดังกล่าว ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องการพักหนี้ สามารถติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ โดยเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการพักหนี้ 2 เดือนในขณะนี้ ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารต่างประเทศ ธนาคารรัฐ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ รวมทั้งผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนอนแบงก์

ทั้งนี้ ธปท.ได้ประสานกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ให้เร่งรัดการตรวจหลักฐานเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว และเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้ที่สูงมาก เมื่อครบสัญญาการพักหนี้ 2 เดือนแล้ว ไม่ให้เจ้าหนี้นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาทบกับค่างวดต่อไปเพื่อเก็บจากลูกหนี้ทันที แต่ให้ยกไปต่อจากงวดสุดท้ายหรือเกลี่ยชำระในงวดที่เหลือ โดยมาตรการพักหนี้ครั้งนี้ถือเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเร่งด่วน ซึ่งต้องเร่งใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม หนทางที่เหมาะสมในการแก้หนี้คือการปรับโครงสร้างหนี้และการเร่งรัดการเพิ่มรายได้ให้คืนมา
สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงมาก แต่กิจการไม่ได้ถูกสั่งปิด ทั้งในพื้นที่ 10 จังหวัดและนอกพื้นที่นั้น ทาง ธปท.และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ได้เปิดช่องทางให้เข้ามาขอรับความช่วยเหลือตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

“การพักหนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น ดอกเบี้ยในระหว่างพักหนี้ยังเดินอยู่ ดังนั้นลูกหนี้ที่ยังผ่อนไหวอยากให้ผ่อนต่อ ใครที่ปรับโครงสร้างหนี้อยู่ขอให้ดำเนินการต่อไปอย่าหยุด ส่วนใครที่ไม่ไหวพักก่อน 2 เดือน ก็ยังเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ต่อไปเช่นกัน เพื่อแก้หนี้อย่างยั่งยืน”

ขณะที่ในส่วนการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยรายย่อยให้ภาพรวมตามนโยบายของรัฐบาลนั้น รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณา เท่าที่มีการคำนวณผลของการลดดอกเบี้ยต่อภาระหนี้ของประชาชนแล้วไม่ได้มีผลมากนัก เทียบกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนั้น การปรับลดดอกเบี้ยลงไปมากอาจไม่จูงใจให้เกิดการปล่อยกู้จากความเสี่ยงของลูกหนี้ที่มีสูงในขณะนี้ จะทำให้ลูกหนี้บางรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ และต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้แทน

ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 ก.ค.จนถึงวันที่ 15 ส.ค.สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะเปิดช่องทางให้ขอรับความช่วยเหลือ โดยสามารถสมัครผ่านแอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์ ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร และลูกหนี้เอสเอ็มอีสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สัมพันธ์ที่ดูแลสินเชื่อได้ด้วย ทั้งนี้ การพักหนี้ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ไม่แสดงฐานะการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร และเจ้าหนี้จะเรียกเก็บดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมการผิดนัดชำระหนี้ไม่ได้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทยสร้างชาติ ปี 2564” ด้วยการพักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-31 ต.ค.2564 โดยแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL หรือ GHB Buddy บนแอป LINE ตั้งแต่ 19 ก.ค.2564 เวลา 09.00 น.-29 ส.ค.2564 เวลา 20.00 น.

ด้านนายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พร้อมขานรับการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 2 เดือนแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของทางการ โดยเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค.2564 รวมทั้งได้ออกโครงการพิเศษ “เงินกู้สู้ไปด้วยกัน” อนุมัติง่าย อัตราดอกเบี้ย 3% พักชำระเงินต้น 3 เดือน วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท ไม่ต้องมีหลักประกัน ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็กู้ได้ เพียงเดินบัญชีกับธนาคาร สมัครทางออนไลน์ง่าย และสะดวกที่เว็บไซต์ของธนาคารฯ เพื่อช่วยให้ร้านอาหารและร้านค้ารายย่อยมีเงินทุนในการทำธุรกิจ มีความหวังและกำลังใจในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยคาดว่าจะช่วยร้านค้ารายย่อยได้ 35,000 ราย วงเงินสินเชื่อ 3,500 ล้านบาท สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ส.ค.2564.