รัฐบาลเอาจริงป้องความเสียหายประชาชน คุมเข้มกวาดล้างขยะสังคมต้มตุ๋นออนไลน์ให้เห็นผลโดยเร็ว เล็งตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ 

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565  ที่ทำเนียบรัฐบาลพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ศ.(พิเศษ)วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลของการปฎิบัติงานและสถิติการดำเนินคดีทางอาชญากรรมออนไลน์ที่สำคัญในปี 2565 ซึ่งมีความก้าวหน้าชัดเจน ดังนี้

1. การปิดกั้นข้อความ SMS/โทรหลอกลวง จำนวน 76,165 หมายเลข และดำเนินคดีแก๊งค์ Callcenter ในต่างประเทศ จำนวน 6 ครั้ง มีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 166 ราย

2. การอายัดบัญชีม้าจำนวน 40,198 บัญชี และปิดกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 6 กลุ่ม

3. การดำเนินคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุน- ระดมทุน ออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน จำนวน 653 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 747 ราย

4. การปราบพนันออนไลน์ โดยดำเนินคดีกับเว็บไซต์ ที่กระทำความผิดจำนวน 312 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 403 ราย และปิดกั้นเว็บไซต์พนันจำนวน 1,507 เว็บไซต์

5. การหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ ดำเนินคดีจำนวน 469 คดีและมีการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 490 ราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมวางแนวทางมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงทางออนไลน์ 6 มาตรการ ได้แก่ 1. การเร่งรัดปราบปรามการฉ้อโกงออนไลน์ 5 ด้านดังนี้ (1) แก๊ง Call Center (2) บัญชีม้า (3) การหลอกลวงลงทุน-ระดมทุนออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน (4) การพนันออนไลน์ และ (5) การหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์

2. การป้องกันธุรกรรมทางการเงินผิดกฎหมาย

3. การป้องกันการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ผิดกฎหมาย

4. การเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดวงจรอาชญากรรม

5. การยกระดับการเตือนภัยออนไลน์และสร้างการรับรู้ต่อประชาชน และ

6. การเร่งรัดพัฒนากฎหมาย และขยายผล

พล.อ.ประวิตร ย้ำอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างการรับรู้และเกิดความเชื่อมั่นให้ประชาชน และขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งสรุปมาตรการเร่งด่วนแก้ไขการฉ้อโกงออนไลน์ เสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 10 วัน

นายชัยวุฒิ กล่าวขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาเรื่องการแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนก่อนการโอนเงินของระบบ E-Banking / Mobile Banking การป้องกันการโอนเงินผ่าน Remote Application ที่คนร้ายใช้ และ สำนักงาน กสทช. เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับหน่วยงานหรือผู้ใช้งาน Sim โทรศัพท์ที่ผิดกฎหมาย (เช่น SIM ไม่ลงทะเบียน หรือลงทะเบียนไม่ถูกต้อง) สำหรับทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันการออกพระราชกำหนดเกี่ยวกับบัญชีม้าและการจัดการธุรกรรมที่ต้องสงสัยหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมก่อนกระทบในวงกว้าง และจะยกระดับการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ผ่านทางช่องทางแอปเป๋าตังค์และช่องทางต่างๆ รวมทั้ง เร่งนำมาตรการเร่งด่วนแก้ไขการฉ้อโกงออนไลน์ ตามที่ได้หารือกันในวันนี้ เสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป