บึงกระโตน โคราช น้ำเหลือ 0% ชาวบ้าน สัตว์เลี้ยง ขาดน้ำวิกฤตหนัก ขณะที่ผู้ว่าฯ ลั่นต้องให้ประชาชนมีน้ำใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ให้ได้
นครราชสีมา-วันนี้ ( 4 มีนาคม 2563 ) สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาวิกฤติหนัก โดยปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน ตำบลประทาย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาด 3,700 ไร่ พบว่า มีปริมาณน้ำเหลือ 0 % จากความจุทั้งหมด 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวแพและร้านอาหารที่ตั้งอยู่บริเวณริมอ่างเก็บน้ำ ต้องปิดตัวลงแบบถาวร ชาวบ้านกว่า 4 หมู่บ้าน เสี่ยงขาดน้ำใช้ถาวร จำเป็นต้องขุดบ่อบาดาลสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เอง และกระทบกับการเล่นน้ำสงกรานต์ ที่จะมีการจัดถนนคนเดินให้ประชาชนเล่นน้ำบริเวณถนนสันอ่างเก็บน้ำเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายนด้วย
โดยบึงกระโตนแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจราชการและสั่งการให้แก้ปัญหาภัยแล้ง เมื่อครั้งจัด ครม.สัญจร ที่จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ซึ่งได้มีการขุดลอกเพิ่มเติม แต่ก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ และปีนี้ปริมาณน้ำแห้งขอดเร็วกว่าทุกปี เนื่องจากในพื้นที่มีฝนตกลงมาน้อยมาก ทำให้ไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมอ่างเก็บน้ำขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร ส่วนสัตว์เลี้ยงก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน โค-กระบือขาดแคลนน้ำและพืชอาหารสัตว์ ต้องเดินลงไปกินหญ้าแห้งภายในอ่างเก็บน้ำฯ
ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งทางจังหวัดพยายามที่จะประคับประคองให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำใช้อุปโภค บริโภค ให้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ให้ได้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำชุมชนมาโดยตลอดในหลายพื้นที่ แต่เมื่อน้ำหมด ปัญหาเหล่านี้ก็เริ่มปะทุขึ้นมาอีก เช่นที่ อ.โนนสูง ที่มีการแก้ปัญหาภัยแล้งได้หลายตำบลแล้ว แต่ตอนนี้น้ำที่กักเก็บไว้เริ่มหมด ก็ทำให้บางพื้นที่เริ่มมีปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง ดังนั้น จึงต้องระดมหลายภาคส่วน นำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ในขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ได้พระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยให้จิตอาสาพระราชทาน เข้ามาร่วมดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการในอำเภอต่างๆ รวม 8 อำเภอ ซึ่งจะมีทั้งการหาแหล่งน้ำมาใช้เฉพาะหน้า และการเตรียมแหล่งน้ำสำหรับไว้เก็บน้ำในอนาคต และภายในวันที่ 10 มีนาคม 2563 น่าจะสามารถดำเนินการจิตอาสาแก้ไขปัญหาภัยแล้งในทุกพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น คาดว่าในปีหน้าจะมีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอทุกพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังทำการแจกจ่ายน้ำให้กับชาวบ้านที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่ จำนวน 53 หมู่บ้าน ซึ่งทางจังหวัดจะเป็นฝ่ายช่วยสนับสนุน และสำรวจว่า แต่ละพื้นที่มีเครื่องมือในการแจกจ่ายน้ำได้เพียงพอหรือไม่ หรือมีน้ำเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากมีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำเพิ่ม ก็จะต้องตามไปช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อจะประคองให้พี่น้องชาวโคราช ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ให้ได้ นายวิเชียรฯ กล่าว.