พระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัย วันคล้ายวันประสูติ 26 มิถุนายน ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา

นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 26 มิถุนายน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” ประสูติที่ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ทรงเป็นบุตรคนโตจากบุตรธิดาทั้งหมด 9 คน ของนายนับ และ นางตาล ประสัตถพงศ์

สมเด็จพระสังฆราช ทรงศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ใน พ.ศ.  2480

พระชนมายุ 13 พรรษา เริ่มบรรพชา

สมเด็จพระสังฆราช เริ่มบรรพชาตั้งแต่พระชนมายุได้ 13 พรรษา ที่วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะทรงเป็นสามเณรได้ทรงเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอธิการโสตถิ์ สุมิตโต ที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง ราชบุรี จังหวัดราชบุรี ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดตรีญาตินี้

ใน พ.ศ. 2490 ได้ทรงพบกับพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาชั้นเป็น สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี ชักชวนให้ทรงเข้ามาพำนักเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร

“อมฺพโร” อุปสมบท ณ วัดราชบพิธ

สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ มหาพันธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ที่ทรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพโมลีในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพระสังฆราช ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธจนทรงสําเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมาทรงสมัครเข้าศึกษา ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน และทรงสำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นที่ 5 ด้วยปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2500

จากนั้นใน พ.ศ. 2509 ทรงเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรกหลังสำเร็จหลักสูตรการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และใน พ.ศ. 2510 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) สาธารณรัฐอินเดีย จนสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ใน พ.ศ. 2512

พระสังฆราชองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาทีนครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2516 โดยประทับอยู่ที่วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ในนครซิดนีย์เพื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัย การทหารดันทรูน กรุงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์อยู่เป็นประจํา เป็นปฐมเหตุให้ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชมานับแต่ยังทรงดำรง สมณศักดิ์เป็นพระปริยัติกวี

สมเด็จพระสังฆราช ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตั้ง เลื่อน และสถาปนาสมณศักดิ์เรื่อยมานับแต่เป็นพระปริยัติกวี จนถึง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ใน พ.ศ.2552

  • พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี
  • พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
  • พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์
  • พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์
  • พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • พ.ศ.2552 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี” สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 10 รูป

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดสถาปนาให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯลฯ ดำรง ตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก พระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีพิธีสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งฯ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ปรากฏพระนาม ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

Advertisement

โดยเครื่องยศสมณศักดิ์ของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประกอบด้วย พระตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช, พัดยศ, ไตรแพร, บาตรพร้อมด้วยฝาและเชิงบาตรถมปัด, พานพระศรี (มังสี 2 ตลับพู่ 1 จอก 1 ซองพลู 1 พร้อมพลู), ขันน้ำพานรองมีจอก, ถาดสรงพระพักตร์, ขันน้ำพานรองมีจอก คลุมตาดรูปฝาชี, หีบตราจักรี (หีบหลังเจียด), หีบพระโอสถหลังนูน, คนโท, กาทรงกระบอก, หม้อลักจั่น, ปิ่นโตกลม 4 ชั้น, สุพรรณราช และสุพรรณศรี

ข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนา