การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้เเทนไทย จากกระทรวงการต่างประเทศ กรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช กรมศิลปากร และสำนักงานนโยบายและเเผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ในวันนี้ แหล่งทางวัฒนธรรมของไทย คือ เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการมรดกโลก ให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งที่ 4 ของประเทศทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกรวมทั้งสิ้น 7 แหล่ง

สำหรับบรรยากาศการประชุมฯ ภายหลังจากที่ประชุมให้การรับรองเมืองโบราณศรีเทพของไทยขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ได้กล่าวขอบคุณต่อที่ประชุมและขอนำสาสน์ขอบคุณและแสดงความยินดีในนามของประชาชนชาวไทยจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย ต่อคณะกรรมการมรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษา โดยสรุปว่า เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 3 พื้นที่เกี่ยวข้องกัน มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์

เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมทวารวดี ที่โดดเด่นกว่าเมืองในยุคเดียวกัน และมีรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับ ในชื่อ “ศิลปะสกุลช่างศรีเทพ” การขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือและการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้อง แหล่งอันทรงคุณค่าให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และสมบัติอันล้ำค่าของคนทั่วโลกและคนรุ่นหลังต่อไป และขอเชิญชวนให้ทุกท่านมาเยียมเยือนเมืองโบราณศรีเทพ

นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เมื่อ 31 ปี ที่ผ่านมา เมืองโบราณศรีเทพ นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งล่าสุดของประเทศไทย นับจากการขึ้นทะเบียน  แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เมื่อปี 2535

การนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 พื้นที่ คือ เมืองโบราณศรีเทพ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, เขาคลังนอก และถ้ำเขาถมอรัตน์ ในเขตพื้นที่อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยนำเสนอคุณค่าความโดดเด่น ในเรื่องของการจัดวางผังเมืองที่แตกต่างจากเมืองทวารวดี ในยุคสมัยเดียวกัน และประติมากรรม สกุลช่างศรีเทพ ที่มีลักษณะลอยตัว และมีสีหน้าผสมผสาน