รัฐบาลไม่ประมาท ยกระดับ 6 มาตรการสำคัญ ยืนยันไทยยังคงอยู่ในระยะที่ 2 เน้นลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน (Social Distancing)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลั่นรัฐบาลไม่ประมาท ยกระดับ 6 มาตรการสำคัญ ยืนยันไทยยังคงอยู่ในระยะที่ 2 เน้นลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน (Social Distancing)

วันนี้ (16 มี.ค. 2563) เวลา 15.45 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กำชับการเตรียมความพร้อมทุกมิติทั้งเวชภัณฑ์ โรงพยาบาลและมาตรการต่าง ๆ ในการรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้นหรือเตรียมกรณีที่ต้องยกระดับเป็นระยะ 3 โดยมีทุกหน่วยงานร่วมประชุมเพื่อเตรียมปฏิบัติในส่วนของตนเอง สำหรับศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้แก่พี่น้องประชาชน รวมทั้งยังเป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ 1111 และเฟซบุ๊กกรมประชาสัมพันธ์

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1 มีมติเห็นชอบตรงกันเตรียมความพร้อม 6 ด้าน โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาพรุ่งนี้ (17 มี.ค.63) ประกอบด้วยด้านที่ 1 คือ ด้านสาธารณสุข เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลทั้งของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ จัดสรรจำนวนตียงผู้ป่วย ความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์รับมือป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นี้ด้วย ด้านที่ 2 เวชภัณฑ์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ได้เร่งกำลังกระบวนการผลิตให้มีจำนวนมากขึ้นให้ได้ประมาณวันละ 2 ล้านชิ้น โดยบางประเทศแจ้งพร้อมให้จัดส่งหน้ากากอนามัยเพื่อให้ความช่วยเหลือไทยด้วย นอกจากนี้ ยังจะเร่งผลิต แอลกอฮอล์และเจลล้างมือให้มากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้นำหน้ากากอนามัยที่ยึดไว้ได้จำนวนมาก ที่ถือว่าเป็นของกลาง ให้ศูนย์ป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 เพื่อแจกจ่ายไปตามสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยไม่ให้เสียรูปคดี ด้านที่ 3 ด้านข้อมูล การชี้แจง การรับเรื่องราวและข้อร้องเรียน ซึ่งมีการรายงานว่า มีการร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ข้อมูลโควิด -19 วันละประมาณหนึ่งพันราย ซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาไปแล้ว 98 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือให้แก้ปัญหาต่อไป ด้านที่ 4 ด้านการต่างประเทศ รายงานว่า บางประเทศแสดงความปรารถนาดีที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ คือ ยา หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น กรณียกเลิกฟรีวีซ่าและวีโอเอนั้น ไม่มีประเทศใดขัดข้องทุกประเทศพร้อมและน้อมรับกับการดำเนินการของเรา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงคนไทยต่างประเทศต่าง ๆ และข้าราชการ ที่มีประมาณ 1.5 พันคน นักเรียนไทยในต่างประเทศนับพันคน พระภิกษุประมาณ 1.5 พันรูป แรงงานไทยที่ยังไม่กลับเข้ามาอีกนับเป็นแสนคน จึงได้สั่งการให้จัดตั้งทีมไทยแลนด์ในทุกประเทศเพื่อรับมือโควิด-19 โดยมีเอกอัครราชทูตประเทศนั้น ๆ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อรับร้องเรียน ร้องทุกข์ ตลอดจนให้ข้อมูลข่าวสารเป็นทีมเฉพาะกิจ ด้านที่ 5 คือมาตรการป้องกัน เพื่อเตรียมรับมือสำหรับกรณีผู้ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อหรือเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แม้ไทยยังไม่มีการประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจคนเข้าเมืองทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เช่น มีการสั่งยกเลิกวีซ่าฟรี และ Visa on Arrival การเข้าไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ การประกันชีวิต การใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามข้อมูล ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเมืองหรือปิดประเทศ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้หารือให้มีการงดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ 13 – 15 เมษายน 2563 ออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการและไม่เป็นวันหยุดงานของภาคเอกชน และจะให้ชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนการปิดหรือหยุด หรือระงับการเปิดสถานที่บางแห่ง ซึ่งเป็นที่ชุมนุมคนไปอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้แบ่งออก 2 ลักษณะ คือ 1. สถานที่ใดซึ่งมีผู้คนไปชุมนุมกันคราวละมาก ๆ เป็นกิจวัตร และมีโอกาสเสี่ยงสูงเพรามีกิจกรรม สัมผัส พูดจาปราศรัยกันในที่คับแคบ แต่มีทางเลือกทางเลี่ยง ชดเชยการชุมนุมได้ เช่น มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน โรงเรียนรัฐและเอกชน โรงเรียนนานาชาติ สถานกวดวิชาให้เสนอ ครม. เพื่อให้หน่วยงานไปดำเนินการหยุดหรือปิด กิจการเหล่านั้นไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว 2. สถานที่ที่มีคนชุมนุมกันคราวละมาก ๆ จัดกิจกรรมร่วม มีสัมผัสระหว่างกัน เช่น สนามมวย สนามกีฬา โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ ขอดูรายละเอียดกำหนดเกณฑ์ผู้ชุมนุม ส่วนสถานที่อื่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ไม่เข้าเกณฑ์ ยังสามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัย จัดที่นั่งให้ห่างกัน 1 เมตรหรือ 1 เมตรเศษ มีเจลล้างมือ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะสั่งปิดหรือดำเนินการเป็นราย ๆ ต่อไป โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35 รวมถึงแนวคิดเหลื่อมเวลาทำงานและรับประทานอาหาร และการทำงานจากบ้าน ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันไม่มีคนอยู่รวมกันแน่น เช่นเดียวกับเอกชนหลายแห่งได้ดำเนินการไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีกำชับมาตรการป้องกันว่า ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตัวเองให้ถูกต้อง โดยสั่งการให้ทุกกระทรวงไปพิจารณาเรื่องกำหนดมาตรการเลื่อนหรือเหลื่อมเวลาทำงาน การทำงานที่บ้าน เพื่อลดจำนวนคน หลีกเลี่ยงการชุมนุมพร้อม ๆ กัน โดยให้กระทรวงรายงานให้ ครม.ทราบทุก ๆ 7 วัน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มีกำหนดการประชุมประจำปีในเดือน เม.ย. สามารถเลื่อนหรือให้ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟเรนซ์ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ คสช.ที่ 44/2557 สามารถทำได้ และด้านที่ 6 มาตรการเยียวยา กระทรวงการคลังรับที่จะไปพิจารณารายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระในการผ่อนหนี้รถ หนี้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพิจารณาลดค่าเช่าในพื้นที่ของราชการ เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นในที่ประชุมว่า ไวรัสโควิด -19 เป็นวาระสำคัญที่สุดอับดับหนึ่งของประเทศ เรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบการท่องเที่ยว การค้าขาย มีความสำคัญเป็นลำดับสอง เพราะรัฐบาลถือชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญยิ่ง เมื่อสถานการณ์เบาบางลง เศรษฐกิจสามารถฟื้นฟูเยียวยาได้ในเวลาต่อมา

โอกาสนี้ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ย้ำการป้องกันตัวเองเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยหมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย ผู้มีอาการป่วยไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ ขอให้แยกตัวออกจากสถานที่ที่มีคนหมู่มาก หากมีอาการสุ่มเสี่ยงคล้ายโควิด – 19 ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อเป็นวงกว้าง มาตรการยกระดับการป้องกันให้มีความเข้มงวดมากขึ้น คือ เพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามอย่างเข้มข้น เตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ ยารักษา การสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนและตอบคำถามข้อสงสัยของประชาชน โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังได้ตอบกรณีค่าใช้จ่ายในการตรวจหาโควิด – 19 และการรักษาพยาบาลนั้นว่า หากผู้ใดที่มีประวัติเสี่ยง เช่น มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ มีการใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงนั้น สามารถเข้าตรวจ ณ โรงพยาบาลตามสิทธิของตน กรณีฉุกเฉินสามารถไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ตามสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) เมื่อแพทย์วินิจฉัยให้ตรวจการติดเชื้อโควิด – 19 จะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความแม่นยำ หากผลออกมาว่าเป็นบวกหรือติดเชื้อจะมีการตรวจซ้ำแห่งที่สองเพื่อยืนยัน หากผลเป็นลบ คือไม่ติดเชื้อไวรัส หากพบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างไม่เป็นธรรม หรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามหรือแจ้งมาได้ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ 1111 จากนั้น นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ได้กล่าวเสริมว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ายอดผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการชุมนุมของคนหมู่มาก และป้องกันดูแลตนเอง ถ้ามีอาการป่วยขอให้หยุดพัก ผู้ที่ไปในสถานที่เสี่ยงหรือกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงขอให้กักตัวสังเกตอาการอยู่บ้าน 14 วัน ถ้าพบว่าตนมีอาการเข้าเกณฑ์ของโรคให้เดินทางมาพบแพทย์ หรือโทรสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรคเพื่อขอคำแนะนำ

ทั้งนี้ นางวราภรณ์ สุวรรณเจริญ ผู้อำนวยการกองจัดระบบราคาและปริมาณสินค้า 2 (ผู้เชี่ยวชาญ) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ เพียงพอต่อความต้องการ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ถึงปริมาณสินค้าในปัจจุบัน และกำชับผู้ประกอบการให้เพิ่มรอบจัดวางสินค้าบนชั้นจำหน่าย ให้ทันต่อความต้องการของประชาชน ขอประชาชนอย่าได้วิตก

——————-
ขอบคุณข้อมูล / กลุ่มประชาสัมพันธ์เเละเผยเเพร่ สำนักโฆษก