ลงทะเบียน “ไทยชนะ” แน่น วันเดียว 26,736 ร้านค้า ประชาชนใช้บริการ 4,635 คนต่อนาที
นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ในวันแรกของการเปิดให้ร้านค้า/สถานประกอบการ ที่อยู่ในกลุ่มของกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เข้ามาลงทะเบียนแพลตฟอร์มไทยชนะ ผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com ตั้งแต่เวลา 6.00 น. วันนี้ (17 พ.ค.63) ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากร้านค้า และประชาชนผู้ไปใช้บริการในการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนั้น ยังมี Line OA “ไทยชนะ” ไว้สำหรับในการติดต่อ แจ้งข่าวสารกรณีฉุกเฉิน ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมทั้งไว้ติดตามข่าวสารที่มาจากทางของรัฐอีกด้วย โดยทุกท่านสามารถเพิ่มเพื่อนได้เลย
โดยช่วงครึ่งวันแรก มีจำนวนร้านค้าที่เข้ามาลงทะเบียนแล้ว 26,736 ร้านค้า โดยกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มียอดลงทะเบียนเป็นอันดับ 1 ขณะที่ภาพรวมของประชาชนทั่วไป มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเสร็จและเช็คเอาท์ออกจากระบบแล้ว 155.486 คน และมียอดประชาชนเช็คอินผ่าน QR Code ของร้านค้าจำนวนสูงถึง 4,635 คนต่อนาที (ตัวเลขอัพเดท ณ เวลา 11.30 น.)
“ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจกันทั้งของร้านค้าและประชาชน ขณะที่ในส่วนของระบบที่เราจัดเตรียมไว้ให้นั้น วันนี้ถือว่าผลงานดี ระบบไม่มีปัญหา และอยากย้ำว่า นี่คือระบบเดียวที่ราชการรับรอง มีการส่งต่อข้อมูลให้กรมควบคุมโรคโดยตรง ดังนั้นการควบคุมติดตามโรคก็เป็นความลับเฉพาะคน ไม่ต้องโพสต์ติดตามผ่านเฟซบุ๊กอย่างที่ผ่านมา” นพ.พลวรรธน์กล่าว
สำหรับแพลตฟอร์มนี้จะเป็นช่องทางลงทะเบียนของร้านค้า/ผู้ประกอบการ ผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com เมื่อกรอกข้อมูลสำคัญครบถ้วนและถูกต้อง รอการยืนยันผ่านอีเมล์ที่กรอกไว้ตอนลงทะเบียน โดยจะทราบผลไม่เกิน 24 ชั่วโมง และร้านค้าจะได้รับ QR Code เพื่อพิมพ์ติดไว้หน้าร้าน และตามจุดให้บริการของห้างสรรพสินค้า
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า จากผลงานวันแรกนี้พบว่ามีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และยืนยันกลับเร็วมาก พร้อมกันนี้ ขอเน้นย้ำว่าจะไม่มีการยืนยันผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันร้านค้าไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดี
ขณะที่ ในส่วนประชาชนผู้เข้าไปใช้บริการ เพียงสแกน QR Code ที่ติดอยู่หน้าร้าน เช็คอิน และกรอกเบอร์โทรศัพท์ เมื่อใช้บริการเสร็จก็สแกน QR อีกครั้ง และเช็คเอาท์ เพื่อที่ผู้รอใช้บริการรายอื่นๆ จะสามารถเข้าไปได้ เพราะแต่ละร้าน/ห้างสรรพสินค้า จะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการในแต่ละครั้งไม่ให้หนาแน่นหลัก Social Distancing โดยหลังกดเช็คเอาท์ จะมีแบบสอบถามที่อยากขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประเมินร้านนั้นๆ เกี่ยวกับมาตรการ 5 ข้อที่ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่า เป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างดี นอกจากนี้ ในกรณีเป็นร้านค้าย่อยตามห้างสรรพสินค้า ก็ต้องลงทะเบียนเช่นกัน เพราะบางคนเข้าไปใช้บริการเป็นบางร้าน ไม่ได้เดินไปทั่วห้าง ดังนั้นกรณีต้องมีการติดตามควบคุมโรค ก็จะจำกัดวงได้แคบลงและทำงานได้รวดเร็วขึ้น
“ขอยืนยันในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในการเข้าใช้งานไทยชนะ ข้อมูลที่ถูกเก็บของผู้เข้าใช้บริการจะเป็นข้อมูลแบบมีรหัส ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานและผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น ถึงจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ อีกทั้งได้กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 60 วัน จุดประสงค์เดียวของการจัดเก็บข้อมูลคือ เพื่อการควบคุมโรค ป้องกันไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่ 2 ของการระบาด” นพ.พลวรรธน์กล่าว