“ทูตสหรัฐฯ” เข้าพบ “วิษณุ” ชม “ไทย” คุม “โควิด-19” เผย “องค์การอนามัยโลก” เตือน หากหลายประเทศ ปลดล็อกพร้อมกัน อันตรายมาก คนจะเดินทางไปมา แจง 3 ข้อ ขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 เวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (H.E. Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบ ว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ให้การช่วยเหลือประเทศไทยมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ รมว.แรงงาน และแสดงเจตนาที่จะช่วยเหลือในการยกระดับพัฒนาฝีมือแรงงานไทยหลังจากผ่านพ้นจะสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาท่านทูตสหรัฐฯ ได้เขียนบทความชื่นชมการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสของประเทศไทย ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ตนได้เรียนให้ทูตสหรัฐฯทราบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไปจะมีการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมหลายอย่าง แต่มาตรการเรื่องการบินจะยังปิดจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนในเดือน ก.ค.น่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งเราจะประเมินสถานการณ์ตลอดในช่วงเดือนมิ.ย.ที่มีการขยายการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีสถานการณ์อะไรที่เป็นความเสี่ยงหรือไม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าหากหลายประเทศปลดล็อกมาตรการพร้อมกัน จะก่อให้เกิดความอันตรายอย่างมากเพราะจะเกิดการไหลเวียนของคนจำนวนมาก จากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง แต่การติดเชื้อของคนยังมีอยู่
นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทูตสหรัฐฯ ยังได้สอบถามถึงการขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตนอธิบายเหตุผล 3 ข้อคือ 1.หากเราไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะต้องใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาลเลย และจะทำให้เกิด 77 มาตรฐาน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย รัฐบาลจึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียว 2.การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะใช้อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการใดๆ เช่น ปิดสถานที่ต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อประเทศ อาจจะทำให้ประชาชนตกงาน และขาดรายได้ ดังนั้น การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้รัฐบาลสามารถเข้าไปเยียวยาประชาชนที่รับผลกระทบได้ และ 3. เหตุผลทางกฎหมายทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ทูตสหรัฐฯ ถามถึงประเด็นนี้ไม่ใช่เพราะว่าเขากังวลอะไร แต่เขาถามเพราะความอยากรู้ นอกจากนี้ ยังได้หารือกันอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องการฟื้นฟูบมจ.การบินไทย ตนได้ชี้แจงให้ฟังว่าคณะกรรมการฯ ที่ตนนั่งเป็นประธานอยู่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในเรื่องนี้ และตนยังได้บอกว่า อาจจะมีการฟ้องร้องกันทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ทูตสหรัฐฯ ไม่ได้มีการถามถึงสถานการณ์การเมืองไทย