รองนายกฯ “วิษณุ” ชี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีข้อจำกัดหากระบาดหนัก ล็อคได้เฉพาะจุดที่มีปัญหา
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหากไม่ขยายการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ในฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้กิจการกิจกรรมที่เหลือได้รับการปลดล็อกทั้งหมดโดยอัตโนมัติเลยหรือไม่ ว่า ใช่ เว้นแต่จะนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาใช้
ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อในมาตรา 34 และ 35 ก็ล็อคได้ แต่ไม่เหมือนล็อคที่ผ่านมา ที่การปิดบาร์ทุกบาร์ ผับทุกผับ สนามบินทุกแห่ง เกิดจากอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะล็อคได้เป็นร้านๆ เป็นจุดๆ ที่มีปัญหา และเป็นวันๆ ซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์ เพราะโรคติดต่อมันมากับคน และเราไม่รู้ว่าคนไปไหนมาบ้าง
ทั้งหมดที่ตนอธิบายมาความหมายที่ต้องการจะบอกคือ คำว่าล็อคไม่มีในกฎหมาย เราพูดเอง ซึ่งมันแปลว่าปิด เราพูดคำว่าปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ อันนั้นเรียกล็อคดาวน์จริงๆ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะล็อคดาวน์แบบนี้ไม่ได้ แต่จะล็อคดาวน์เป็นร้านหรือห้างสรรพสินค้าได้ โดยปิดเป็นจุดๆ เป็นวันๆ ไป พอแก้ไขปรับปรุงแล้วก็เปิดให้เขา
“ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่าถ้ามันไม่ระบาดอะไรมาก และยังคงไม่มีการติดเชื้อในประเทศเหมือนทุกวันนี้ มันก็ทันการณ์ แต่ถ้ามันตูมเดียวมามันไม่ทันการณ์ที่จะไปไล่ปิดทีละร้าน เหมือนกรณีสนามมวยที่จะต้องไปไล่เรียกมาทีละคนว่าไปร้านไหนมาบ้าง ฉะนั้น ขอให้หมอ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายความปลอดภัยเขาไปคิดชั่งน้ำหนัก เขาไม่มั่ว ไม่เดา แต่จะเอาสถิติทั้งหมดมาดูล่วงหน้า”
เมื่อถามว่า จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะขยายหรือไม่ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ยินว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากข้อมูลยังน้อยและไม่เพียงพอ อย่าลืมว่าเราเพิ่งผ่อนคลายระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. จึงยังเร็วไป แต่สัปดาห์นี้ก็ได้ 15 วันแล้ว เขาคงจะได้คุยกันในวันที่ 25 หรือ 26 มิ.ย.นี้ เพราะมันได้ตัวเลขที่มากขึ้น