ศิริราช เทิดพระเกียรติ 72 พรรษา 60 ปี คณะออร์โธปิดิกส์ เปลี่ยนข้อเข่า 72 ผู้ด้อยโอกาสชาวภูฏาน พลังแพทย์ พยาบาล พุทธศาสนิกชน เดินตามรอยพระศาสดา ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 15.00 น.
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “ศิริราชมอบความรักให้แก่มนุษยชาติ “Love for Humanity by Siriraj @Kingdom of Bhutan” ก้าวตามรอยพระบรมศาสดาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสและถ่ายทอดวิชาการด้านการแพทย์ ณ ประเทศภูฏาน” เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและภูฏาน อีกทั้งยังถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา (28 กรกฎาคม 2567) โดยมี พระราชภาวนาวชิรากร เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการมีส่วนช่วยผู้ป่วยด้อยโอกาส “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นคณะแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุด ในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนงานวิจัย พร้อมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมด้านสาธารณสุขให้ทันสมัย รวมถึงพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่เลือกปฏิบัติแม้จะเชื้อชาติใด ศาสนาใดก็ตาม ด้วยศักยภาพของคณะฯ ได้พัฒนาสู่สถาบันทางการแพทย์ระดับนานาชาติ ทำให้ รพ.ศิริราช ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดมา

ในปีที่ผ่านมาคณะฯ จึงมอบโอกาสด้านสุขภาพให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญด้านสาธารณสุข โดยการทำหัตถการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้แก่ผู้ป่วยชาวเนปาล พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์การรักษาสู่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ รพ.สิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ถือเป็นความปลื้มปิติที่คณะฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนาสาธารณสุขของประเทศเนปาลให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเท่าเทียมของมนุษยชาติ

ความสำเร็จของโครงการก้าวแรกของพระบรมศาสดาในปีที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณชน ผู้ป่วยด้อยโอกาสในประเทศเนปาล จำนวน 33 ราย ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เฉกเช่นเดิม ในปีนี้จึงได้มีการสร้างปาฏิหาริย์ครั้งใหม่ขึ้น ผ่านโครงการก้าวตามรอยพระบรมศาสดา ที่ประเทศภูฏาน ประเทศขนาดเล็กที่ยังไม่มีการพัฒนาทางการแพทย์เท่าที่ควร การเดินทางครั้งนี้โดยการนำทีมของ ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และการสนับสนุนจากหลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก้เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และหลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต จึงเป็นก้าวสำคัญของการนำองค์ความรู้ด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ไปเผยแพร่สู่แพทย์ในประเทศภูฏาน พร้อมทั้งยังร่วมมอบโอกาสในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยด้อยโอกาส โดยตั้งเป้าผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจำนวน 60 ราย 72 ข้อ ด้วยนวัตกรรมที่ทัดเทียมมาตรฐานระดับสากล ในวันที่ 21 – 26 พฤศจิกายน 2567 ณ Jigme Dorji Wangchuck National Referral Hospital, Bhutan

“โครงการนี้ประสบความสําเร็จ ทําให้เราในฐานะที่เป็นคนไทย มีความภาคภูมิใจ มีความสุขในฐานะที่เราเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะคนเอเชีย ส่วนใหญ่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมมาก ดังนั้น เป้าหมายในก้าวที่ 3 ของโครงการในปีหน้า พื้นที่จะคงเป็นคนเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้าน“นายแพทย์อภิชาติ กล่าว

ด้าน พระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก) กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดี เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษยชาติ ปีที่แล้วไปเนปาล ประสบความสำเร็จ ปีนี้ก็จะไปช่วยประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นดินแดนพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระองค์นั้นมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด และเพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัวในการช่วยเหลือผู้คน จึงได้บอกบุญญาติโยมร่วมทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้สนับสนุนโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนคณะแพทย์ศิริราช ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไป

พระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด กล่าวว่าโครงการนี้ต่อเนื่องมาจากโครงการก้าวแรกของพระองค์พระศาสดา คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช คณะสงฆ์ได้ร่วมกันทํากิจกรรมนี้ที่ประเทศเนปาล เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสได้ทําบุญบูชาพระพุทธเจ้าและทําบุญแทนคุณแผ่นดินเกิดของพระพุทธเจ้า ในปีนี้จะไปที่ประเทศภูฏาน เพราะเกี่ยวเรื่องกับประเทศไทยมีความใกล้ชิดสนิทสนมในราชวงศ์อย่างยิ่ง และนักศึกษาแพทย์ประเทศภูฏานก็มาเรียนที่ศิริราช และในการที่คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราชไปทํากิจกรรมอันนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่น่ายกย่อง น่าเชิดชูอย่างยิ่ง เป็นกิจกรรมที่ไม่เพียงแค่เอาไปให้เขา แต่เราได้นําวิชาความรู้ นำความสามารถ นําความชํานาญเทคโนโลยีต่างๆ ไปให้ความรู้กับคณะแพทย์ภูฏานด้วย เพราะในทางการแพทย์นั้น โรงพยาบาลศิริราช เป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

”อาตมามั่นใจว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศที่เราไปทําเท่านั้นแต่โครงการนี้จะกระจายไปสู่สังคมอื่นๆ ทั่วโลกเป็นโครงการที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นโครงการที่พวกเราทุกท่าน ทุกคนภูมิใจ อย่างแน่นอน ”

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (หลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต กล่าวว่าเราประกาศ we can เราทําได้ เราทําในฐานะไม่ใช่กิจของพระสงฆ์ แต่ทําเพื่อมนุษยชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา ไม่ได้เกี่ยวกับประเทศชาติ แต่เรากําลังทำเพื่อแสดงถึงจุดยืนของความเป็นคน ทุกคนมี engine ทุกคนมีศักดิ์ศรีของตนเอง แต่โรคภัยไข้เจ็บ ย่อมทําให้ศักดิ์ศรีนั้นมีปัญหา เราในฐานะเพื่อนมนุษย์ เราไม่ทิ้งไม่เดียวดายคนเหล่านั้น
จากประชาชนสู่ประชาชน โดยความร่วมมือของทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายประชาชน ซึ่งเป็นการทํางานร่วมกัน เรียกว่าจุดยืนของการพัฒนาโลก จากก้าวแรกเมืองลุมพินี ประเทศเนปาล คนไข้ทั้ง 33 คน ประสบความสำเร็จ

”ที่เนปาลทุกคนกําลังถามถึง ทุกคนกําลังนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา หลายๆ คน ได้นําเอารูปพระบรมฉายาลักษณ์ไว้บูชาเทียมเทพที่เขาบูชา เพราะด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยความพยายามของคณะแพทย์ศิริราช ด้วยความตั้งใจของหลวงพ่อทั้งหลาย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวพุทธเรา สามารถที่จะให้ชีวิตใหม่เขา ได้ we can เราทําได้“ หลวงพ่ออนิลมาน กล่าว และย้ำว่า

ปัจจุบันเรากําลังจะทําเป็นก้าวที่สอง คือ ประเทศภูฏานภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีข้อจำกัดความเจริญ ภูฎานเป็นประเทศเล็กๆ มี 4 ชาวเผ่า คือ เชื้อสายจากทิเบต เชื้อสายจากเนปาล เชื้อสายจากอินเดีย และอีกพวกหนึ่งคือ คละกันเป็นชาติพันธุ์เล็กๆ ประชากรมีอยู่ไม่ถึงล้าน เป็นประเทศที่ให้บริการสาธารณสุขฟรี แต่เรื่องข้อเข่านั้น เกินความสามารถในประเทศภูฏาน เพราะฉะนั้น ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านทุนทรัพย์ ด้านการแพทย์

“เรากำลังจะยกศิริราช ยกแผนกกระดูกไปทั้งหมด เพื่อไปช่วยมวลมนุษยชาติ เรากําลังจะทําก้าวที่สอง คือ ตามรอยพระศาสดา คือ การช่วยมวลมนุษยชาติ ยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นคน โครงการที่ยิ่งใหญ่”หลวงพ่ออนิลมาน

ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด กล่าวว่า การดําเนินการที่จะไปที่ประเทศภูฏาน เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งที่แล้วประเทศเนปาลยากขึ้น คือ ความด้อยโอกาสของประชาชน จะซับซ้อนกว่า ครั้งนี้เราผ่าตัด72 ข้อ คนไข้ 60 ราย มากกว่าครั้งที่แล้วเท่าตัว คือ สิ่งที่ท้าทาย ในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ที่สุด และจะถ่ายทอดให้การทํางานในลักษณะนี้ให้กับทีมแพทย์ภูฏาน
ได้นําไปปฏิบัติหน้าที่ที่ประเทศของตนต่อไป ได้อย่างไร

นายแพทย์กีรติ กล่าวว่าเป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ ให้ประชาชนที่ขาดโอกาสของประเทศภูฏาน เหล่านั้นได้กลับ มามีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกําลังสําคัญของครอบครัว เป็นที่พึ่งพา ของประเทศชาติ และสิ่งสำคัญ คือ การถ่ายทอดวิชาการความรู้ในทุกๆ ด้านจากศูนย์วิชาการที่เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแพทย์ชาวภูฏานทั้งประเทศ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ ทั้งหมดมีประมาณ 26 คน เราจะประชุมวิชาการกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้ทุกคนได้นําความรู้ไปใช้ต่อไปได้อย่างมีและสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแผนในเรื่องของการศึกษาต่อเนื่องโดยจะทําโครงการแพทย์ที่ขาดแคลนในด้านต่างๆ จะได้เข้ามาศึกษาต่อเนื่องที่ศิริราชพยาบาล คือวางแผนในเรื่องของการที่จะเข้ามาศึกษาทั้งในด้านของบุคลากรพยาบาล นักกายภาพบําบัด นักเทคนิคการแพทย์ก็จะเข้ามา เรียนจากที่ศิริราชด้วยต่อไป

“เป็นความตั้งใจของภาควิชา ที่จะเดินตามรอยพระพุทธองค์ผ่านความเมตตาไปยังประเทศภูฏาน ครั้งนี้ โดยที่เราจะนําพาพระเมตตาไปช่วยให้คุณรอดชีวิตของประชาชนที่นั้น ชีวิตที่กลับมามีคุณค่าในตนเอง และทําให้แพทย์ที่ประเทศภูฏาน มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ที่จะเป็นที่พึ่งพาของประชาชนของตน นี่คือ เป้าหมายของเรา“นายแพทย์กีรติ กล่าว

@catwatchofficial

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ตามรอยพระศาสดา 2 ภูฎาน ศิริราชก้าวตามรอยพระบรมศาสดา พร้อมมอบความรักให้แก่มนุษยชาติ  “Love for Humanity by Siriraj @Kingdom of Bhutan”  ร่วมผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสและถ่ายทอดวิชาการด้านการแพทย์ ณ ประเทศภูฏาน

♬ เสียงต้นฉบับ - catswatch