‘สภาพัฒน์’ แถลงจีดีพีไตรมาส 1/2563 ติดลบ 3% ปรับประมาณการทั้งปีติดลบ5-6% ผลกระทบจากโควิด-19
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส1 ปี 2563 ติดลบ 1.8% จากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่จีดีพีมีการติดลบในหลายประเทศ และการส่งออกที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมทั้งการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ
นอกจากนี้ยังปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เป็น ติดลบ 5% ถึงลบ6% (ค่ากลางลบ 5.5%) จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5 -2.5%
ทั้งนี้การปรับลดการคาดการณ์จีดีพีของ สศช.ในครั้งนี้เนื่องมาจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกของประเทศไทยอย่างมากในปีนี้
ก่อนหน้านี้สศช.ได้รายงานสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ได้เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่เดือนก.พ.เป็นต้นมา เมื่อการระบาดได้เริ่มแพร่ไปยังทวีปยุโรปและสหรัฐรวมทั้งในประเทศไทยเองมีคำสั่งในการปิดกิจการต่างๆทำให้มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น
โดยปัจจัยที่ส่งผลสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ สศช.สรุปและรายงานให้ ครม.รับทราบแล้วคือ 1.ความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดของการระบาดของโรคโควิด-19 โดยยังมีการระบาดอยู่ต่อเนื่อง และหลายประเทศที่เคยควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่งแล้วแต่ก็มีการกลับมาแพร่ระบาดอีก มีปัจจัยเดียวที่จะยุติการแพร่ระบาดได้ก็คือการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิิดขึ้นเมื่อไหร่ จึงยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในภาคบริการหลักของประเทศ
2.แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก จากการประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากหน่วยงานระหว่างประเทศ ณ เดือน เม.ย.2563 พบว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 จะหดตัวประมาณ 2 -3% ซึ่งส่งผลโดยโดยตรงต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคญของไทยไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศ
ขณะที่การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงประมาณ 70% การใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศในเดือน มี.ค.2563 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวลดลง 20% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนการลงทุนและการบริโภคของเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
3.ผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ โดยในช่วงแรกของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อการจ้างงานในสาขาการท่องเที่ยวและกิจการเกี่ยวเนื่องอื่นๆที่มีแรงงานกว่า 4 ล้านตำแหน่ง และการปิดเมืองและกิจการต่างๆในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ก็ทำให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งงสะท้อนผ่านข้อมูลการรับเงินประกันสังคมประมาณ 1.18 ล้านคน และมีผู้มีอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐประมาณ 23 ล้านคน
ผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศจะขยายตัวจากภาคบริการไปสู่ภาคอุตสาหกรรมบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากการลดลงของความต้องการ (Demand) ภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆหลังโควิด-19 ก็จะส่งผลต่อการส่งออกและการจ้างงานของประเทศไทยในระยะต่อไปด้วย
นอกจากนี้ แนวโน้มความปกติใหม่ที่คาคว่จะเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวลงด้วยซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกมากและยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนในระยะต่อไป
“ผลกระทบจากการระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนและแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในภาคการผลิต ภาคการบริการ และภาคการส่งออก”