วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ.2564

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัส “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ว่า

“โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดีในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลายแต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้วก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนและชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้องและเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของการเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริง ๆ แล้วก็หลากหลายได้ โคกหนองนานำความหลากหลาย และความอ่อนตัวมารวม เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา เพราะฉะนั้น ก็ขอชมเชยท่านทั้งหลายที่มีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความรักในวิชาหรือรักในการเกษตร การนำเกษตรมารวมเป็น โคกหนองนานี้ไม่ได้จะมาบอกว่าต้องทำเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันมีหลักการกว้าง ๆ มีเป้าหมายที่แน่นอนคือความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา การเกษตร เป็นอาหารเป็นสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตของเรา นี่ก็คือ คำว่าโคกหนองนา โมเดล คือหลากหลายแต่ก็มีหลักการ เป็นแบบนี้ แบบนั้น แต่หลักการก็ไม่ได้มาผูกมัดพวกเรา เรียกว่า Check List คือเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องนำมาพิจารณาไปสู่ความหลากหลายและความสมบูรณ์ของการเกษตรของประเทศ
เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมากที่เราได้มีการคิด ริเริ่มที่จะมีโคกหนองนา ในพระราชวังดุสิต ในเขตนี้ของพระราชวังดุสิตคือพระที่นั่งวิมานเมฆซึ่งเป็นที่ประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายต่าง ๆ หลายพระองค์ แล้วเราก็มาพัฒนาพื้นที่ ของเดิมคือเป็นพระราชวังดุสิตแล้วจะไปถึงพระที่นั่งวิมานเมฆที่สวยงาม ย้ายพระตำหนักเรือนต้นมารวมกันในพื้นที่นี้ ก็คือความใส ความเป็นธรรมชาติ เรียกว่าความสะอาดของสิ่งแวดล้อมและภาวะแวดล้อม เราหลีกเลี่ยงฝุ่นและมลภาวะแวดล้อมไม่ได้ แต่การที่เรามีน้ำ การที่เราปลูกต้นไม้ หรือการที่เราทำให้มีพื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติขึ้นนั่นเอง ในเขตพระราชวังในกรุงเทพ ในเขตกรุงเทพมหานครก็เป็นของที่ดี ดังนั้นโคกหนองนาจึงเป็นการเสริมพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พวกเราทุกคนก็ถือว่า สืบสาน ต่อยอด คือความต่อเนื่อง และการรู้ความเป็นมา การพัฒนาสืบสานต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็ต้องรักษาประเพณี รักษาที่มาที่ไปของประเทศไทยไว้
ในยุครัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ในยุคนี้คือเกษตร เกษตรคือประเทศก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คืออารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คืออารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลาย ๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้
อารยะคือเจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุดคือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น “Cultural Heritage” เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธรรมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่าง ๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่าง ๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรา มี “Culture” หรือการเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทยเราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรม ไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติ ก็ดีแต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา”

เมื่อวันจันทร์ ที่ 5 เมษายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงพื้นที่ โคก หนอง นา ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต