“สมเด็จธงชัย” กับ”สุวัจน์”อัญเชิญ “พระนาคปรก” ขนาดกว่า 3 เมตรใหญ่ที่สุดมาไว้ที่ศูนย์ฯ บูลพอร์ต หัวหิน เพื่อความเป็นศิริมงคล เป็นกำลังใจให้คนไทยรอดพ้นวิกฤติโควิดและเศรษฐกิจ
วันที่ 17 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น.สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ “สมเด็จธงชัย” วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ประกอบพิธีประดิษฐานพระนาคปรก “พระพุทธมหานวนาคปฏิมากร” ที่ศูนย์การค้าบูลพอร์ต หัวหิน โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมกับ นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายประยงค์ จันทเต็ง นายอำเภอหัวหิน ข้าราชการ ภาคเอกชน และประชาชนชาวเมืองหัวหินจำนวนมาก พร้อมรับแจกเหรียญพระพุทธมหานวนาคปฏิมากร เพื่อความเป็นศิริมงคล
“พระนาคปรก” หรือ “พระพุทธมหานวนาคปฏิมากร” องค์นี้ จัดสร้างขึ้นในปี 2563 มีขนาดหน้าตัก 32 นิ้ว สูง 3.10 เมตร ใหญ่ที่สุดประดิษฐานไว้หน้าศูนย์การค้าบูลพอร์ตหัวหิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวหัวหินและนักท่องเที่ยวได้กราบขอพรเป็นศิริมงคลให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ “พระพุทธมหานวนาคปฏิมากร” องค์นี้ มีต้นแบบมาจาก สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ “สมเด็จธงชัย” แห่งวัดไตรมิตรวิทยาราม ที่ได้เคยจัดสร้างและทำพิธีมหาพุทธาภิเษก “พระพุทธมหานวนครปฏิมากร” ขนาด 5.5 นิ้ว สูง 8 นิ้ว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม เนื่องจากในช่วงปี 2540-2541 เศรษฐกิจประเทศไทยมีปัญหาโดน IMF ยึด ต้องการปลดหนี้ให้ไทยเป็นเอกราช ปลดพันธนาการออกไปให้ได้ โรคภัยไข้เจ็บต้องหาย ร่างกายแข็งแรง และทำให้ประเทศเกิดความร่มเย็น ประชาชนมีความสุขกาย สุขใจในภาวะวิกฤตอย่างนี้ สมเด็จธงชัย จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขต่อประชาชนและประเทศชาติ
ซึ่งองค์พระปฏิมาตลอดจนองค์นาค 9 เศียร หรือ “มหานวะนาค” มีพุทธศิลป์ในรูปแบบของศิลปะสุโขทัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระนาคปรกเก้าเศียรศรีสัชนาลัย วัดพระธาตุเจ็ดแถว จังหวัดสุโขทัย อันเป็นดินแดนกรุงรัตนโกสินทร์ จนมาถึงกรุงเทพฯ เป็นพระพุทธปฏิมาร่วมสมัยที่หล่อแยกเป็น 2 ส่วน ระหว่างองค์พระและฐานรององค์ ซึ่งเป็นขนดนาคซ้อนเรียงขึ้นเป็นฐานทั้งหมด 7 ชั้น โดยมีองค์พญามุจลินทร์หรือองค์พญานาคแผ่พังพานขึ้นทั้งหมด 9 เศียร ตั้งขึ้นเพื่อเป็นพุทธบัลลังกให้พระพุทธองค์ได้ทรงปลอดจากเภทภัยแลหมู่มารที่มาผจญ รวมถึงคุ้มแดดคุ้มฝนให้ทรงสำราญพระวรกาย ตามตำนานที่กล่าวขานกันมาตั้งแต่อดีต จึงเป็นคติธรรมที่นำมาสร้างเป็นพระพุทธปฏิมาจำลองขนาดเล็ก นัยยะเพื่อให้เกิดพุทธานุภาพ
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบทรงหงายพระหัตถ์ทั้งสองแบวางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาซ้อนกับพระหัตถ์ซ้าย มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องพระเศียร บางแห่งสร้างเป็นแบบนั่งขัดสมาธิเพชร
ประวัติความเป็นมา
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น ๗ วันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า “มุจลินท์” ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ แต่บังเอิญวันนั้นเกิดมีฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจลินท์ผู้เป็นราชาแห่งนาคได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบนเหมือนกั้นเศวตรฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย
ครั้นฝนหายขาดแล้ว พญามุจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ ในที่เฉพาะพระพักตร์ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า :-
สุโข วิเวโก ตุฏฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต
อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเก ปาณภูเตสุ สญฺญโม
สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม
อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ
ความว่าความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง
พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ภายในวงขนดของพญามุจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมาเรียกว่า “ปางนาคปรก”