สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรสมเด็จพระราชินี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน
“อภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ 3 มิถุนายน 2563 ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ ขอตั้งกัลยาณจิตร่วมกับปวงชนชาวไทย ถวายพระพรชัยให้มีพระกำลังเข้มแข็ง ในการประกอบพระราชกรณียกิจ ประสิทธิ์ประสาทความวัฒนาสถาพรมาสู่ประชาชาติไทยสืบไป ด้วยอานุภาพแห่งพระราชธรรมจริยา
เพราะฉะนั้น พสกนิกรทุกหมู่เหล่าจึงพึงตั้งดวงจิตไว้ด้วยความจงรักภักดี น้อมถวายกำลังพระราชหฤทัย ให้ทรงบริบูรณ์ด้วยพระคุณสมบัติของขัตติยนารี เสด็จสถิตเป็นศรีสง่าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตลอดกาลนาน
ณ มงคลวารคล้ายวันพระราชสมภพมาบรรจบถึง จึงขออัญเชิญพระพุทธภาษิต มากล่าวอ้างเป็นสัจจวาจา ว่า
ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ
อุชุํ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ.
แปลความว่า ‘คนมีปัญญา ทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรทำลูกศรให้ตรงได้ฉะนั้น.’
ด้วยเดชะแห่งสัจจวาจานี้ ขอประชาราษฎร์ทั้งปวง จงสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ทำนุบำรุงราชอาณาจักรไทยให้รุ่งเรือง เพื่อสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ จักได้ทรงพระเกษมสำราญ ปลอดโปร่งทั้งพระวรกายและพระราชหฤทัย ทรงนำพาประชานิกรให้ประสบความเกษมสโมสรยิ่งๆ ขึ้นไป สมดังพระราชประสงค์จำนงหมาย
ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย โปรดอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ให้ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย เสด็จสถิตเป็นมิ่งขวัญของอาณาประชาชนสืบไป เป็นนิตยกาล เทอญ.”
สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระราชหฤทัยซื่อสัตย์กตเวทีต่อสมเด็จพระราชสวามี และทรงบริบูรณ์ด้วยพระมหากรุณาต่ออาณาประชาราษฎร ตลอดหนึ่งปีนับแต่เสด็จสถิตในที่สมเด็จพระอัครมเหสี ได้ทรงสำแดงให้เห็นประจักษ์ว่า ทรงพร้อมอุทิศพระองค์ สนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสัมฤทธิผลเป็นประโยชน์สุขของปวงประชา อีกทั้งทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยว่า จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงตลอดจนบูรพราชนารีแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประหนึ่งทรงมุ่งจะปิดทองหลังพระ โดยหมายจะให้พระพุทธปฏิมางดงามบริบูรณ์อย่างเต็มองค์
การที่ทรงดำรงมั่นในพระราชจริยาฉะนี้ แสดงถึงพระปรีชาญาณ ที่ทรงสามารถข่มพระจิต อันมีธรรมชาติเป็นของดิ้นรนกวัดแกว่ง ให้กลับสงบ นิ่ง ไม่หวั่นไหว และมั่นคงแน่วแน่ต่อความดี ด้วย ‘สัจจะ’ คือความซื่อตรง ด้วย ‘ทมะ’ คือความฝึกตน ด้วย ‘ขันติ’ คือความอดทน และด้วย ‘จาคะ’ คือความเสียสละ เป็นธรรมะประจำพระราชหฤทัย